Krukaroon: การทำหนังสั้น

!!!การุณย์ สุวรรณรักษา สังคมศึกษาฯ วรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา!!

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การทำหนังสั้น

มาทำ ‘หนังสั้น’ กันเถอะ! (ตอนที่ 1)

ตำราฉบับเริ่มต้นสำหรับมือใหม่หัดทำหนังสั้น
ตอนที่ 1 : อะไรคือ 6 กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณทำหนังสั้นสำเร็จ?
    ‘ทำหนังสั้น’...ฟังเหมือนง่าย แต่เรารู้ว่าสำหรับหลายๆ คน มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ฝันเพราะสารพัดเหตุผล ดังนั้น เพื่อให้ฝันของคุณในการจะมีหนังสั้นเรื่องแรกในชีวิตซะทีนี้ได้กลายเป็นจริง ‘ฟิ้ว’ จึงขอเสนอบทความชุด ‘มาทำหนังสั้นกันเถอะ’ ให้คุณได้ใช้เป็นคู่มือในการเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง!

    เราขอแนะนำ 6 หลักการง่ายๆ สำหรับผู้เริ่มต้น ได้แก่


กุญแจดอกที่ 1 - ลองทำหนังที่ยาวไม่เกิน 5 นาทีก็พอ

    “หือ? 5 นาทีเนี่ยนะ?! จะไปทำอะไรด้ายยยย???” ถ้าคุณไม่เคยทำหนังสั้น หรือไม่ใช่นักดูหนังสั้นขั้นเทพ คำถามนี้ย่อมเกิดขึ้นในใจคุณทันทีเป็นธรรมดา โอ้ว ก็นี่มันทำหนังนะ ไม่ใช่ต้มมาม่า จะได้เสร็จไวขนาดนั้น ห้านาทีเนี่ยทำธุระในส้วมยังไม่ทันเลย นับประสาอะไรกับการทำหนัง!

    ช้าก่อน อย่าเพิ่งด่วนสรุป ...เวลาที่ดูเหมือนแสนสั้นนี้แหละที่คุณสามารถใช้ในการเล่าเรื่องให้คนดู หัวเราะร่า น้ำตาร่วง หรือทั้งยิ้มทั้งร่ำไห้ไปพร้อมๆ กันได้ เวลา 5 นาทีนั้นมากพอสำหรับการสื่อสารในสิ่งที่คุณคิด และที่สำคัญ หนังสั้นๆ แบบเนี้ยแหละที่คนทำหนังมือใหม่จะมีโอกาสปลุกปั้นมันให้สำเร็จได้อย่างไม่ยากเกินไปนัก


กุญแจดอกที่ 2 - เขียนบทให้เสร็จซะตั้งแต่ก่อนถ่าย

    จริงอยู่ที่หลายคนอาจทำหนังสำเร็จด้วยวิธี “ด้นสดๆ – ไร้บทเกะกะ” แต่คุณก็คงเห็นด้วยใช่ไหมว่า หนังส่วนใหญ่ที่ใช้วิธีนี้มักหนีไม่พ้นที่จะมีหน้าตา ‘บ้านๆ’ ราวกับโฮมวิดีโอถ่ายเล่น ยังไม่ต้องพูดถึงสารพัดปัญหาที่ต้องไปนั่งแก้กันปวดตับหน้ากองถ่าย แถมหนังเสร็จออกมาแล้วยังมักไม่ค่อยพาคนทำให้ก้าวหน้าไปไหนสักที นั่นก็เพราะในอันที่เราจะได้หนังซึ่งเข้าถึงคนดูวงกว้างมากขึ้น เป็นที่พูดถึงมากขึ้น และพาเราไปไหนต่อไหนได้ไกลมากขึ้นนั้น สำคัญยิ่งที่เราจะต้องทำให้งานออกมาดูมี ‘หน้าตาเป็นมืออาชีพ’ ซึ่งหมายถึงเราต้องมีการเตรียมตัวที่ดีก่อนถ่าย เพื่อจะได้มีสมาธิจดจ่อแน่วแน่ได้ในระหว่างถ่าย

    สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อเรามี ‘บทหนัง’ (script) เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถสร้าง ‘ฉาก’ (set) ได้ล่วงหน้า และควบคุมสิ่งต่างๆ ในการถ่ายทำได้ นอกจากนั้น การเขียนบทให้เสร็จก่อนยังทำให้เราสามารถขัดเกลาเรื่องที่เราจะเล่าให้ กระชับแหลมคมและสื่อสารกับคนดูได้ตรงกับที่เราต้องการ และท้ายที่สุด บทหนังยังเป็นสัญญาญบ่งบอกทุกๆ คนได้ดีมากว่า เราตั้งใจจริงแค่ไหนในการทำหนังเรื่องนี้


กุญแจดอกที่ 3 - จงยึดตำแหน่งสำคัญไว้เอง

    กองถ่ายหนังสั้นก็คล้ายหนังใหญ่ คือมีตำแหน่งมากมายให้เลือกทำตามความสนใจ คุณอาจอยากเป็นฝ่ายคัดเลือกนักแสดง, หาโลเคชั่น, จัดเสบียงไว้เลี้ยงปากท้องทีมงาน ฯลฯ แต่หากอยากจะแน่ใจว่า หนังของคุณจะสำเร็จเสร็จสิ้นได้จริงๆ ล่ะก็ คุณควรเป็นคนทำตำแหน่งสำคัญหลักๆ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง (หรือมากกว่าหนึ่ง) ต่อไปนี้ : เขียนบท / กำกับ / โปรดิวซ์ / ตัดต่อ ...เพราะตำแหน่ง เหล่านี้ต้องอาศัยการทำงานหนักและใช้ความรับผิดชอบสูง ดังนั้นจึงควรอยู่ในมือของคนที่พร้อมจะทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่มันมากที่สุด ซึ่งก็คือ ‘คุณ’ นั่นเอง

    แล้วแต่ละตำแหน่งนั่นต้องทำอะไรบ้าง ไว้เราค่อยมาดูกันในบทต่อๆ ไป


กุญแจดอกที่ 4 - ใช้เทคโนโลยีดิจิตอล

    เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง การจะทำให้ภาพในหนังดูเป็นมืออาชีพยังต้องอาศัยกล้องตัวยักษ์ราคามหาโหดและ ตากล้องผู้เชี่ยวชาญกันอยู่เลย แถมหนังแบบนั้นก็ยังต้องการกระบวนการล้างฟิล์มที่ยุ่งยากแพงลิบ และการตัดต่อที่ต้องใช้เครื่องและวิธีอันแสนละเอียดยิบยากเข็ญ แต่ตอนนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีวุ่นๆ พวกนั้นอีกต่อไป ...ดิจิตอลช่วยให้เราทำหนังเองได้ง่ายจัง!

    เรื่องการใช้กล้อง การถ่าย การตัดต่อ ฯลฯ เราจะมาว่ากันอย่างละเอียดอีกทีในบทหลังๆ ประเด็นหลักของเรา ณ บรรทัดนี้คือการบอกคุณว่า ในอันจะปั้นความฝันให้เป็นจริงนั้น คุณเพียงต้องหากล้องดิจิตอลมาหนึ่งตัวและคอมพิวเตอร์อีกหนึ่งเครื่องที่ลง โปรแกรมสำหรับตัดต่อหนังไว้ โดยมีพื้นที่ความจุในฮาร์ดไดรฟ์พอสมควร ...ได้ยินเช่นนี้ ใครยังไม่มีอะไรอยู่ในมือเลยก็อย่าเพิ่งหนักใจว่าจะไปหาเงินก้อนจากไหนมา ซื้อ เพราะยังมีอีกหลายวิธีในการได้อุปกรณ์เหล่านี้มา ไม่ว่าจะเป็นการเช่าหรือขอยืมจากผู้จิตศรัทธาหลากหลายแหล่งก็ตาม ดังนั้น เบื้องต้นเอาเป็นว่าคุณไม่จำต้องเริ่มต้นด้วยความวิตกใด การทำหนังดิจิตอลง่ายดายกว่าที่คุณอาจเคยจินตนาการไว้มาก


กุญแจดอกที่ 5 - ถ่ายหนังให้เสร็จใน 3 วัน

    ความงามของการถ่ายหนังให้เสร็จในเวลาแค่ 3 วันอยู่ตรงไหน คำตอบคือ มันเป็นระยะเวลาที่คุณและทีมงานจะยังรักษาพลังและความสดใหม่เอาไว้ได้ไม่ตกหล่น แม้แต่นักแสดงมือดีที่คิวแน่นเป็นที่สุดก็ยังอาจหาเวลาว่างสัก 3 วันมาเล่นหนังให้คุณได้ ส่วนเพื่อนๆ ของคุณก็จะไม่เห็นว่าเป็นภาระหนักเกินไปกับการมาช่วยถือไมค์บูม, จัดกล่องข้าวผัดมาให้ หรือมาช่วยเล่นเป็นตัวประกอบเล็กๆ น้อยๆ หากเสียเวลาแค่ 3 วัน ขณะที่ตัวคุณเองก็จะสามารถรับมือกับปัญหาและความกดดันทุกรูปแบบได้อย่าง สบายๆ ในเวลาเพียง 3 วันนั้น

    และเชื่อเถอะว่า ถ้าคุณมีสมาธิมุ่งมั่นและตั้งอกตั้งใจทำงานตามตารางที่วางไว้ สิ้นสุดวันหยุดยาวครั้งนี้คุณก็จะถ่ายหนังเสร็จหนึ่งเรื่องแน่นอน


กุญแจดอกที่ 6 - สนุกกับการตัดต่อ

    กระบวนการสำคัญหลังจากถ่ายหนังเสร็จแล้วก็คือ การทำโพสต์โปรดักชัน (Post-Production) ซึ่งถือเป็นขั้นที่กำหนดคุณภาพของตัวหนัง การนั่งตัดต่อ (Editing) อาจไม่ฟังดูน่าตื่นเต้นเร้าใจเท่าการไปออกกองถ่าย แต่เชื่อเถิดว่า มันเป็นงานที่สนุกมากเป็นสองเท่าเลยล่ะ เพราะในขั้นตอนนี้นี่เองที่คุณจึงจะเริ่มได้เห็นหนังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาต่อหน้าต่อตา และที่สำคัญ ในขั้นนี้คุณจะไม่ต้องปวดหัวกับทีมงานมากมายอีกต่อไป เพราะคุณสามารถตัดต่อปลุกปั้นหนังสั้นทั้งเรื่องได้ด้วยตัวคุณเองกับ คอมพิวเตอร์อีกหนึ่งเครื่องเท่านั้น

    การตัดต่อเป็นงานที่สนุก\ แต่พร้อมกันนั้นมันก็อาจกินเวลามหาศาลด้วยในการที่คุณจะรื้อ ยำ ขยำขยี้หนังของคุณให้สวยหรู ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาว่าคุณเผลอยื้อกระบวนการนี้ออกไปไม่รู้จักจบ สิ้น เราจึงขอแนะนำว่า คุณควรต้องกำหนด “เส้นตาย” (Deadline) ให้ชัดเจนเพื่อกระตุ้นให้ตัวเองกระตือรือร้นในการทำหนังให้เสร็จให้ได้

    วิธีหนึ่งที่เวิร์คมากในการกำหนดเส้นตายนี้ ก็คือ ลองเลือกเทศกาลหนังสั้นหรืองานประกวดหนังสั้นอะไรสักงานที่คุณอยากส่งหนังไปร่วม ดูว่าเขากำหนดวันหมดเขตส่งเมื่อไหร่ และจงตัดต่อหนังให้ทันกำหนดนั้น (แต่ควรอยู่ในระยะเวลาสัก 4-6 สัปดาห์หลังจากคุณถ่ายทำเสร็จนะจ๊ะ ไม่ใช่เทศกาลที่หมดเขตอีกหนึ่งปีข้างหน้าโน่น)

    ทั้ง 6 ข้อนี้คือคำแนะนำเบื้องต้นที่เราขอมอบให้ คุณอาจยังไม่สามารถหรือไม่อยากทำตามทุกข้อ แต่ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะทดลองใช้มันดู

    เอาล่ะ แล้วบัดนี้ก็ได้ฤกษ์อันดีที่คุณจะเริ่มทำหนังของตัวเองซะที...


มาทำ ‘หนังสั้น’ กันเถอะ! (ตอนที่ 2) : หาไอเดียจากไหนดี


    ‘ทำหนังสั้น’...ฟังเหมือนง่าย แต่เรารู้ว่าสำหรับหลายๆ คน มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ฝันเพราะสารพัดเหตุผล ดังนั้น เพื่อให้ฝันของคุณในการจะมีหนังสั้นเรื่องแรกในชีวิตซะทีนี้ได้กลายเป็นจริง ‘ฟิ้ว’ จึงขอเสนอบทความชุด ‘มาทำหนังสั้นกันเถอะ’ ให้คุณได้ใช้เป็นคู่มือในการเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง!



(Photo from Felipe, at Flickr)

    การทำหนังสั้น (short film) ย่อมต่างจากการทำหนังยาว (feature film) ตั้งแต่กระบวนการสร้างไอเดียหรือแนวคิด (concept) เลยทีเดียว

    ขั้นแรกสุดของการทำหนังสั้น (ซึ่งในทีนี้ เราขอชวนคุณมาทำเริ่มต้นด้วยหนังที่ยาวแค่สัก 5 นาที) ก็คือ ต้องมองหาประเด็นหรือเรื่องที่เหมาะกับความยาวแค่นี้ให้ได้  ทั้งในแง่ระยะเวลาของการเล่าเรื่อง (ซึ่งมีจำกัด), งบ (ซึ่งมีจำกัด) และความเป็นไปได้ด้านการผลิต (ซึ่งก็มีจำกัดอีกนั่นแหละ)

    คุณควรเริ่มด้วยการถามตัวเองว่า คุณอยากเล่าเรื่องอะไร และเรื่องนั้นจะถูกเล่าได้อย่างสมบูรณ์แบบภายในเวลาอันจำกัดไหม ถ้ายังคิดไม่ออก เราก็ขอแนะให้ลองทำแบบฝึกหัดต่อไปนี้ เพื่อเสาะหาแนวคิดใหม่ๆ ที่หลากหลายมาเพื่อเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดก่อนจะลงมือทำ


มากระตุ้นไอเดียกัน!
แบบฝึกหัดที่ 1 : ปล่อยพรวด


    เริ่มด้วยการให้เวลาตัวเองนั่งนิ่งๆ หลับตา คิดถึงสิ่งต่างๆ นานาในชีวิตของคุณ สัก 10 นาที
    จากนั้น ...เอาล่ะนะ ...เตรียมตัว ...ระวัง ...ไป!
   
    เขียนเลย! เขียนอะไรออกมาก็ได้! อาจเป็นรายการสิ่งที่คุณฝันอยากทำให้สำเร็จในปีนี้ หรือเป็นจดหมายพร่ำพรรณนาถึงคนที่คุณแอบรักมาตั้งนานแล้ว หรือเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมบ้าๆ บอๆ ของไอ้ตูบอีเหมียวที่คุณเลี้ยงไว้ ฯลฯ ไม่ว่าอะไรโผล่เข้ามาในสมอง จงปลดปล่อยมันลงสู่หน้ากระดาษให้หมดเกลี้ยง มันอาจนำคุณไปสู่สิ่งที่ดีเยี่ยมได้จนแม้แต่คุณเองก็ไม่อยากเชื่อ

แบบฝึกหัดที่ 2 : นิยามปัญหา

    คราวนี้กลับไปเลือกเรื่องอะไรก็ได้ที่เขียนไว้ในแบบฝึกหัดข้อแรกมาสักหนึ่ง เรื่อง เขียนสรุปเป็นแค่ประเด็นสั้นๆ สัก 1-2 คำ (เช่น “ประสบการณ์อกหักตอนม.ปลาย”) จากนั้นก็ให้นึกถึงตัวอย่างสัก 3 ตัวอย่างของคำดังกล่าว โดยอาจจะเป็นตัวอย่างที่คุณจินตนาการขึ้นมา หรือนำมาจากชีวิตจริงก็ได้ (เช่น ตัวอย่างที่ 1 “แอบชอบผู้หญิงเรียนห้องติดกัน แต่ยังไม่ทันจีบ เพื่อนซี้ในกลุ่มเดียวกับเราก็ดันมาเล่าว่ากำลังชอบผู้หญิงคนนั้นเหมือนกัน แถมมันจีบก่อน เราเลยชวด” / ตัวอย่างที่ 2 “หลงรักรุ่นน้อง โดยไม่ทันรู้เลยว่าเขาป๊อปปูลาร์มากๆ มารู้ตัวอีกทีก็โดนเด็กห้องฝรั่งเศสสวยสุดๆ งาบไปซะแล้ว เศร้ามาก” ฯลฯ)

    แบบฝึกหัดบทนี้อาจทำให้คุณเริ่มมองเห็นไอเดียสำหรับทำหนังชัดขึ้น แต่ถึงงั้นเราก็ยังมีอีกหลายวิธีที่อยากให้คุณลองใช้เพื่อค้นหาไอเดียใหม่ๆ ต่อไปอีกนะ เช่น...

- ใช้เรื่องจริงให้เป็นประโยชน์

    ถามตัวเองซิว่า เรามีประสบการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง, มีอะไรที่เราเคยเห็นหรือเคยทำซึ่งมันทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นๆ? ฯลฯ แล้วลองผูกเรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนตัวนั่น

- ลองดัดแปลง

    คุณอาจไปค้นหาไอเดียจากสื่ออื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง เช่น เรื่องสั้น, เพลง, บทกวี, บทละคร, นิยาย, ตำนาน, บทความเชิงสารคดี ฯลฯ โดยอย่าลืมด้วยว่า จะต้องเป็นเรื่องที่คุณสามารถหยิบมาเล่าได้อย่างกระชับและน่าสนใจภายในเวลา 5 นาที ส่วนการดัดแปลงนั้น คุณจะทำตามต้นฉบับอย่างซื่อสัตย์ หรือจะเปลี่ยนอะไรให้หวือหวาน่าสนขึ้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำคัญตรงที่ต้องให้เกียรติเจ้าของเรื่องนั้นๆ ด้วยนะ วิธีที่ดีที่สุดคือติดต่อกับเจ้าของเรื่องโดยตรงเพื่อขออนุญาตซะให้ถูกต้อง

- ถึงเวลาทิ้ง

    มาถึงตรงนี้ คุณอาจเริ่มมีไอเดียแน่นสมองไปหมด ซึ่งก็แปลว่าถึงเวลาต้อง “เลือก” บางอย่าง และ “ทิ้ง” สิ่งที่เหลือแล้วล่ะ วิธีง่ายที่สุดคือ ถามตัวเองอีกนั่นแหละว่า ในบรรดาไอเดียทั้งหมดที่ได้มา อันไหนที่ทำให้คุณตื่นเต้นอยากทำเป็นหนังชะมัด มันคือไอเดียที่คุณสุดแสนชอบ และก็น่าจะเป็นไอเดียที่เหล่าญาติสนิทมิตรสหายของคุณหลงใหลด้วยไม่แพ้กัน? คำตอบคือไอเดียนั้นแหละ เลือกเลย!

- เขียน “ทรีตเมนต์” (Treatment) กันหน่อย

    ทรีตเมนต์ก็คือ การจับเรื่องทั้งหมดที่จะทำหนัง มาสรุปเป็นเนื้อความสั้นๆ ย่อๆ ก่อนจะไปลงมือเขียนบทจริง นี่เป็นสิ่งที่น่าทำแม้กระทั่งสำหรับหนังสั้น เพราะมันจะช่วยให้คุณได้ทบทวนไอเดียว่าน่าสนจริงไหม กระชับพอหรือยัง และยังช่วยให้คนอื่นๆ ที่จะมาเกี่ยวข้องในอนาคต (เช่น ทีมงาน) ได้เข้าใจง่ายๆ ตั้งแต่แรกด้วยว่า ในหนังจะมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง

    สำหรับหนังสั้น 5 นาที ทรีตเมนต์ไม่ควรยาวเกินครึ่งหน้ากระดาษ A4 โดยอาจเป็นแค่ย่อหน้าเดียวหรือแค่ไม่กี่ประโยคก็ได้

- เสร็จแล้วยัดใส่ลิ้นชักไปเลย

    เมื่อมีทรีตเมนต์อยู่ในมือแล้ว เราขอแนะนำให้คุณเอามันไปเก็บให้พ้นหูพ้นตาไปเลยสัก 2-3 วัน จากนั้นค่อยกลับมานั่งอ่านมันใหม่แล้วถามตัวเองให้แน่ใจว่า คุณยังรู้สึกว่ามันเจ๋งอยู่ไหม?

    ไม่แปลกถ้าความรู้สึกเจ๋งจะลดลงไปบ้าง แต่ถ้าถึงขั้นรู้สึกว่า “แหวะ! น่าเบื่อเว้ย!” ล่ะก็ อาจแปลว่าคุณควรตัดใจโยนทิ้งแล้วเริ่มต้นค้นหาไอเดียใหม่ดีกว่า อย่าลืมว่าเมื่อคุณเลือกไอเดียไหนแล้ว คุณกับคนอื่นๆ จะต้องทนเหนื่อยกับมันอีกนานเชียวนะกว่าหนังจะเสร็จ

    ในทางตรงข้าม ถ้าทรีตเมนต์นั่นยังทำให้คุณตื่นเต้นตัวสั่นอยากทำเป็นหนังซะเร็วๆ ล่ะก็ เราขอแสดงความยินดีด้วย และเตรียมรออ่าน “วิธีเขียนบทหนังสั้น” ในตอนต่อไปได้เลย!

ขอขอบคุณ  http://fuse.in.th/blogs/scoop/187 


ขั้นตอนการทำหนังสั้น

ขั้นแรก หาองค์ประกอบด้านวิธีการ คือ หลักการ การวางแผน การถ่ายทำ การตัดต่อ การประเมินผล
ขึ้น สอง หาองค์ประกอบด้านบุคลากร คือ บุคลากรในหน้าที่ต่างๆตั้งแต่ ตัวละคร บุคคลทางเทคนิค รวมไปถึง ผู้มีความสารถเฉพาะครับ จะดีมากๆ และอีกอย่างคือทีมเวิคครับ

ขั้นสาม เตรียมการผลิต คือ วางแผน เตรียมสถานที่ บท อุปกรณ์ ให้ครบ
ขั้นสี่  บทหนัง คือ วางบท คำพูด ระยะเวลาสถานที่ เรื่องราว ที่จะสื่อออกมา
          เรื่องบทเนี้ยจะมี หลายแบบนะ
                          - บทแบบสมบูรณ์  ประมาณว่า เก็บทุกรายละเอียดทุกคำพูดอ่ะครับ
                          - บทแบบอย่างย่อ ประมาณว่า เปิดกว้างๆให้ผู้ชมสังเกตในความเข้าใจของตนเอง
                          - บทแบบเฉพาะ   (ไม่จำเป็นหรอก)
                          - บทแบบร่างกำหนด (ไม่จำเป็นอีกแหละ)
ขั้น ห้า การผลิต อย่างแรกเลย แต่ละฉากคุณต้องเลือกมุมกล้องให้เหมาะสม กับสภาพอากาศ ขนาดวัตถุ ว่าควรเห็นแค่ไหน  ขนาดมุมกล้องมีหลายแบบนะเยอะมาก ผมพูดรวมๆละกัน มีแบบ ระยะไกลมาก ระยะไกล ระยะปานกลาง ระยะใกล้  (รายละเอียดท่าสนใจเข้ามาคุยนะครับ)

ขั้นหก ค้นหามุมกล้อง
                 - มุมคนดู ประมาณว่า เป็นมุมถ่ายจากรอบนอกของฉากนั้นๆอ่ะครับ เหมือนผู้ชมเป็นคนสังเกตฉากนั้นๆ
                 - มุมแทนสายตา ไม่ต้องอธิบายมั้ง
                 - มุมพ้อยออฟวิว มุมนี้แนะนำให้ใช้เยอะๆครับ สวยมากมุมนี้ในการทำหนัง เป็นมุมที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ครับ เช่น การถ่ายข้ามไหล่ของตัวละคร หรือวัตถุ ครับ
ขั้นเจ็ด การเคลื่อนไหวของกล้อง (พูดรวมๆนะถ้าจะเอาละเอียดเข้ามาคุยกัน)
                 - การแพน การทิลท์ ประมาณว่า การทำเคลื่อนไหวกล้องให้เห็นตำแหน่งวัตถนั้นสัมพันกันครับ
                 - การดอลลี่ การติดตามการเคลื่อนไหวเลยครับ
                 - การซูม เป็นการเปลียนองค์ประกอบภาพครับ เหมือนเน้ความสนใจในจุดๆหนึ่ง
ขั้นแปด เทคนิคการถ่าย (เออผมจะอธิบายไงดีเนี้ยมันเยอะมากอ่ะครับ)
                    เอาเป็นว่าจับกล้องให้มั่นอ่ะครับ อย่างผมก็จะจับ แบบกระชับกับตัวเลย คือแขนทั้งสองข้างแนบตัวเลยครับ และก็ไม่แนะนำให้เคลื่อนไหวกล้องแบบรวดเร็วนะครับ กล้องจะปรับโฟกัสไม่ทัน ทำให้ภาพเบลอครับ
ถ้าอยากทราบเทคนิคการถ่ายแบบละเอียดก็ เข้ามาถามละกันนะครับ ผมต้องใช้ประสปการณ์ตรงอธิบายอ่ะ
ขั้นเก้า หลังการผลิต ก็ต้องตัดต่อ เพิ่มเสียง เอฟเฟค ความคมชัด ความเด่นชัดเรื่อง อักษรหนังสือ

ขั้นสิบ การตัดต่อ (เยอะมากครับอธิบายรวมๆละกัน)
              อย่างแรกเลยครับจัดลำดับภาพ และเวลาให้ตรงและเหมาะสม อันไหนเกินยาวก็ให้ตัดทิ้งครับอย่าให้ขัดอารณ์
              อย่างสองคือจัดภาพให้เหมาะสม เนื้อหาและโครงเรื่องที่เราวางไว้ครับ
              อย่างสามแก้ไขข้อบกพร่องครับ
              อย่างสี่ เพิ่มทคนิคให้ดูสวยงาม(เดียวจะอธิบาย)
              อย่างห้า เรื่องเสียง(เดียวจะอธิบาย)

เอาละครับขั้นการตัดต่อและมาดูละกันการตัดต่อเชื่อมฉากมีอะไรบ้าง

             - การตัด cut
             - การเฟด fade
             - การทำภาพจางซ้อน
             - การกวาดภาพ
             - ซ้อนภาพ
             - ภาพมองทาจ
ให้คิดเอาเองนะครับว่าหมายความว่าไง ถ้าไม่เข้าใจเข้ามาถามครับ
ยังมีอีกเยอะเลยเรื่องการจัดเฟรมแต่หลังจากนี้ก็ไม่ยากแล้วครับเหลือแค่โปรแกรมที่จะนำมาใช้ ผมแนะนำดังต่อไปนี้นะครับ

1. movie maker (Xp ก็มีมาให้แล้ว) ตัดต่อเบื้องต้นครับ ตัวเชื่อมเฟรมค่อนข้างน้อย ไม่แนะนำนะครับ
2. Sony vegas 7.0 ค่อยดีขึ้นมาหน่อย การทำงานค่อนข้างละเอียดครับ มีลุกเล่นเยอะมากมาย(แนะนำสำหรับมือใหม่ครับ)
3. adobe premiere pro 2.0 มีการตัดต่อค่อนข้างละเอียดอ่อนมากๆครับใช้งานยากแต่ ถ้าใช้เป็นสามารถสร้างหนังได้ใหญ่ๆเรื่องนึงเลยนะครับ แต่การใช้งานยุ่งยากไม่เหมาะกับมือใหม่ (ถ้าอยากใช้ก็หาเอาแล้วกันนะครับ)

ขอขอบคุณ http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=50570441c1e0719e


วิธีการตัดต่อวีดิโอ ด้วย windows movie maker คลิกเลย

วิธีการตัดต่อวีดิโอ ด้วย windows movie maker 2 คลิกเลย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นักเรียนทุกคน ช่วยตอบแบบสอบถามนี้ด้วยค่ะ

ดูทีวีครูเรียนรู้วิทยายุทธ

Subscribe Now: Feed Icon