Krukaroon: มิถุนายน 2010

!!!การุณย์ สุวรรณรักษา สังคมศึกษาฯ วรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา!!

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เส้นทางเดินของพวกเราชาววรนารีเฉลิม

                                       เราจะไปทางไหนดี
แล้วพวกเรา  จะก้าวไป  ที่ไหนกัน        ร่วมสร้างฝัน  ร่วมเสนอ กันได้ไหม
เพราะนี้คือ  ประเทศประ ชาธิปไตย       นี้ไม่ใช่   ดินแดนแห่ง  เผด็จการ
เผด็จการ  ดึกดำบรรพ์  มันผ่านพ้น        ประชาชน  มีเสรี   ที่ประสาน
มีแนวคิด   ถูกหรือผิด   ร่วมวิจารณ์       เสียงข้างมาก พาก้าวผ่าน วิกฤตภัย
คนที่ขับ  ขับไปไหน  ใครกำหนด          คนโดยสาร  ทั้งหมด  กำหนดไหม
หรือคนขับ  ขับสบาย  ไปไหนไป           คนโดยสาร  ทุกข์เพียงใด  ช่างหัวมัน

----------------------------------------------------------------------------------
ภาพจาก http://www.google.co.th/ใช้เพื่อการศึกษาเ่ท่านั้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สุดรันทด ยายตาบอด อาศัยข้าวก้นบาตร เลี้ยง 2 หลานยังเล็กที่ลูกทิ้งไว้ให้


3 ยายหลาน ชีวิตแสนลำเค็ญ หลานสาว 2 คนถูกพ่อแม่ทิ้งให้อยู่กับยายที่ตามองแทบไม่เห็น ไม่มีแม้แต่ข้าวสารจะกรอกหม้อ ต้องอาศัยข้าวก้นบาตรของหลวงตามาประทังชีวิตไปวันๆแบบไร้อนาคต...

ผู้ สื่อข่าวไทยรัฐได้รับแจ้งว่า มีครอบครัวของยายหลาน 3 ชีวิตกำลังเดือดร้อน ลำบาก ฐานะยากจนไม่มีใครเหลียวแล จากการเดินทางไปดูข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้ง ที่บ้านไม่มีเลขที่ ม.ที่ 14 ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของยายประทุม อุชา อายุ 56 ปี

โดยสภาพในสภาพบ้านที่เก่าทรุดโทรม ไม่มีสิ่งของมีค่าใดๆ ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ ต้องอาศัยแสงสว่างจากข้างบ้านมาใช้ ยายประทุมเปิดเผยถึงเรื่องราวของตนว่า เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตาทั้ง 2 ข้างเป็นต้อกระจก เริ่มฝ้าฟางจนบอดสนิทในที่สุด ชาวบ้านที่พบเห็นก็เกิดความสงสาร จึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร แพทย์ได้ผ่าตัดลอกเอาต้อกระจกออก หลังจากนั้นอาการก็ดีขึ้น จนสามารถมองเห็นได้เลือนราง

ส่วนสามีเสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยายประทุมมีลูกชาย 2 คน แต่คนโตเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ส่วนคนเล็กชื่อนายนิพนธ์ วงศ์จิ๋ว อายุ 35 ปี ก็ไม่สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้เต็มที่ เนื่องจากเป็นโปลิโอ ขาลีบทั้ง 2 ข้าง แต่ยังพอเดินได้

นายนิพนธ์ เคยมีภรรยาและมีลูกด้วยกัน 2 คน คนโตชื่อเด็กหญิงอริสา วงค์จิ๋ว อายุ 6 ขวบ และเด็กหญิงกิตตยา ปานทอง (ใช้นามสกุลแม่) อายุ 4 ขวบ ต่อมาลูกสะใภ้ ชื่อ นางก้อย ปานทอง อายุ 28 ปี ทนความลำบากไม่ไหว จึงหนีไปมีสามีใหม่ ตั้งแต่ลูกคนเล็กยังแบเบาะ ส่วนลูกชายทนอยู่กับสภาพความยากจนที่บ้านไม่ได้เช่นกัน จึงไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพ โดยไปพร้อมกับเพื่อนบ้านได้เกือบ 2 เดือนแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยส่งข่าวให้ทราบ มีแต่เพื่อนบ้านมาบอกว่า นายนิพนธ์มีเมียใหม่เป็นคนงานก่อสร้างด้วยกัน

ซ้ำร้าย นายนิพนธ์ ได้ทิ้งลูกสาวทั้ง 2 คน ไว้ให้ยายประทุมเป็นภาระเลี้ยงดู ซึ่งยายประทุมก็ไม่สามารถทำงานเลี้ยงดูหลานทั้งสองคนได้ ตอนแรกคิดว่าจะนำเด็กทั้งสองคนไปฝากไว้ที่วัด แต่เนื่องจากเป็นเด็กผู้หญิง จึงจำต้องเลี้ยงดูอยู่ที่บ้านตามมีตามเกิด โดยอาศัยข้าวก้นบาตรของพระแบ่งมาให้

หลานสาวทั้งสองคนเข้าโรงเรียน แล้ว แต่ด้วยความยากจน ในตอนเช้าจึงไม่มีข้าวให้หลานทั้งสองคนกินก่อนไปโรงเรียน หลานๆจึงต้องอดข้าวเช้า รอไปกินอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้ ส่วนเย็นเพื่อนบ้านที่ใจดีแบ่งปันมาให้ ได้พอประทังชีวิตไปวันๆ

ยาย ประทุม ยังได้ฝากทีมข่าวไทยรัฐ ถึงผู้ใจบุญว่า ตนไม่ขออะไรมากมาย ขอเพียงมีข้าวสารกรอกหม้อให้หลานๆได้กินอิ่มท้องก็เพียงพอแล้ว

ขอแต่งบทกลอนสอนใจศิษย์รักทุกคน  หาใช่ซ้ำเติมหนูน้อยในข่าวแต่ประการใด

                                   อย่าชิงสุกก่อนห่าม
นี่คือ  ความจริง  ชีวิต                  ใช่พรหม  ลิขิต  ศิษย์เอ๋ย
หนุ่มสาว  ได้เสีย เกินเลย            เคยเคย  ให้เห็น  มากมาย
แรกแรก  สุขสุข  สดใส                นานไป   ทุกข์ทุกข์  โฉมฉาย
หวานหวาน  หมดหลง  งมงาย     บั้นปลาย  แตกร้าง  ห่างกัน
ก็เพราะ  ใช่รัก  สักหน่อย              ตัณหา  Enjoy   สร้างฝัน
กิเลส  ทับโถม  โรมรัน                 จึงพลัน  เสียตัว  เสียตน
ก็เพราะ  ไม่ใช่  ความรัก               จึงผลัก  แตกง่าย  ไม่สน
หารัก  พบรัก  อยากยล                 หายาก  เหลือทน  รักจริง
ในเมื่อ หารัก  ยากใหญ่                แล้วใย  เสพสม  หนุ่งหนิง
ทั้งรู้  หาใช่  รักจริง                       เพียงรัก  กลอกกลิ้ง เสียตัว
ถ้าหาก อยากให้  ชีพสุข               มีรัก   ไร้ทุกข์  ทูลหัว
ก็ควร  รักนวล  สงวนตัว                อย่ามั่ว  ให้ใคร  ดอมดม
ใครหนุก  ปล่อยให้  ไปหนุก          สักวัน  เจอทุกข์  ขื่นขม
แนวทาง  หญิงไทย  นานนม        ขอให้  ขำคม  สังวรณ์
หากแม้  มีลูก  หนึ่งสอง                ลูกต้อง  ทุกข์กว่า  สมร
จะเรียน  จะกิน  จะนอน                 งามงอน  มีใคร  เมตตา
โชคดี  มียาย  เลี้ยงดู                    หดหู่   ตายาย   มืดหนา
แสนอนาถ  ชีวิต ทรมา                  พึ่งข้าว หลวงตา  อยู่กิน
เตือนใจ  ให้ศิษย์  คิดอ่าน             อย่าคร้าน  เรียนวิชา หาสิน
เรียนจบ  มีคู่  ยุพิน                         รายได้  พอกิน  สุขเอย
                                                      ลุงรุณย์  21 มิ.ย 2553

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เที่ยวสุดท้ายในการย้ายครูประถมสู่รั้วมัธยม


ภาพจากhttp://gotoknow.org/file/skuikratoke/DSC03969.JPG

ครูมัธยมรอลุ้น ก.ม.ตั้งเขตพื้นที่มัธยม

วัน พฤหัสบดี ที่ 10 มิถุนายน 2553 เวลา 7:06 น
Bookmark and Share

นายวิทยา บริบูรณ์ทรัพย์ ผอ.รร.โยธินบูรณะ ในฐานะนายกสมาคมครูมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าการแบ่งเขตพื้นที่การประถมศึกษาและเขตพื้นที่การมัธยม ศึกษาว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะให้มีการปรับปรุงรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเสนอแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติไปแล้ว รอเพียงนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
   
นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาใหม่จะแบ่งเป็นเขตพื้นที่การประถมศึกษา และเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดย 185 เขตเดิม จะเป็นเขตพื้นที่การประถมศึกษาทั้งหมด ส่วนเขตมัธยมจะเกิดขึ้นตามความเหมาะสมตามความเห็นของสภาการศึกษาที่จะเสนอ ต่อ รมว.ศธ. ซึ่งศธ.ได้เตรียมความพร้อมที่จะตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดยตั้งศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 41 ศูนย์ ส่วนจะมีกี่เขตต้องรอประกาศอีกครั้งโดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
   
“สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เราจะใช้สำนักงานเดิมที่มีอยู่ เช่น สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัด สำนักงานประถมศึกษา หรือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นต้น โดยจะไม่มีการลงทุนจัดสร้างสำนักงานใหม่ ส่วนบุคลากรก็จะเกลี่ยในพื้นที่เดิมที่ดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษา สำหรับตำแหน่งผอ.เขตพื้นที่ฯจะมีการสรรหาโดยควรเป็นผู้ที่มาจากสายมัธยม ศึกษา เพราะจะรู้บริบทของโรงเรียน และวัฒนธรรมขององค์กรมากกว่าสายประถมศึกษา อีกทั้งในสายของประถมศึกษาก็มีถึง 185 เขตแล้ว” นายก สบมท.กล่าว.

ข้อมูลจาก http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=71116&categoryID=42

ในทรรศนะของผู้เขียน มีความเห็นว่าคุณครูของพวกเราล้วนศึกษาจบปริญญาตรี โท กันมาและผ่านชีวิตความเป็นครูมาหลายปีดีดัก  การย้ายครูที่สอนในระดับประถมศึกษา มาสอนในระดับมัธยมศึกษา หากเป็นกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็นับว่าเป็นที่น่าเห็นอกเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากย้ายเข้ามาจากส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า เมื่อเราเปิดโอกาสให้ครูประถมมากเกินไป ก็เท่ากับว่าเราปิดกั้นครูมัธยมด้วยกันเอง ไม่ให้มีโอกาสย้ายเข้ามาที่นี่ได้นั่นเอง
       เรื่องของประสบการณ์ในการสอนมัธยม ครูสามารถทำการสอนอย่างต่อเนื่องได้เลย ไม่มีโอกาสหยุดชงัก หรือแม้กระทั่งการควบคุมชั้นเรียน ที่ครูประถมต้องใช้เวลาในการปรับตัว
อย่างน้อยก็สักระยะเวลาหนึ่งอย่างแน่นอน  ยิ่งถ้าหากครูประถมย้ายเข้ามามากเท่าไร ก็ต้อง
อาศัยเวลาปรับตัวปรับตน เมื่อให้สอดคล้องสัมพันธ์กับวิถีมัธยมศึกษา ดังนั้นในช่วงเวลาแห่งการปรับตัวนี้เอง ทำให้นักเรียนเสียโอกาสโดยเราอาจไม่นึกคิดในประเด็นนี้ก็เป็นได้
       แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าถ้าเป็นครูประถมแล้วจะไม่ดีเสียทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความเช่นนั้น ครูประถมที่มีฝีมือ เข้ามาปุ๊บก็สามารถเตรียมการสอนและทำการสอนได้ปั๊บเป็นที่ยอมรับของนักเรียนก็ยังมีอยู่ เพื่อนพ้องพี่น้องประถมที่ย้ายเข้ามาอย่าได้น้อยเนื้อต่ำใจนะครับ
เป็นเพียงทรรศนะของผู้เขียนเพียงคนเดียวเท่านั้น
       ประเด็นคำถามคือ ทำไมในเมื่อมีครูมัธยม ทำเรื่องย้ายเข้ามามากมาย  แล้วทำไมเราต้องปิดโอกาสพวกเขา แต่กลับไปเปิดโอกาสให้กับครูประถมศึกษา มากกว่ามัธยมศึกษา
ประเด็นนี้ชวนให้เป็นที่น่าสงสัยอยู่ไม่น้อย
       ถ้าถามท่านผู้ปกครองว่า "ท่านต้องการครูที่ย้ายมาจาก โรงเรียนประถม หรือโรงเรียนมัธยม มาทำหน้าที่สอนกุลบุตรกุลธิดาของท่าน" ท่านช่วยตอบหน่อยได้ไหม และนั่นคือ
คำตอบที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนจริง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การสอนแบบ blog คู่ขนานกับการสอนในชั้นเรียน


การเรียนการสอนสำหรับนักเรียนักศึกษาในปัจจุบัน เป็นภาระที่คุณครูต้องพินิจพิจารณา สรรหาแนวทางหรือเทคนิคการสอนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้นักเรียนเบื่อหน่าย ประเด็นนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและความถนัดสันทัดการสอนของแต่ละบุคคล
การสอนแบบ blog เป็นหนทางเลือกทางหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าดีมาก
การใช้ blog เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เพราะ
1. นักเรียนได้พัฒนาในด้านการสืบค้น การอ่าน การเขียนบทความ การคิด การวิเคราะห์
2. นักเรียนได้แสดงออกผ่านสื่อที่หลากหลาย เช่นผ่านทาง blog,facebook,twitterฯ
3. การติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับครูผู้สอนเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว
4. การมอบหมายงาน การเรียนเสริม กรณีนักเรียนขาดเรียน หรือลาป่วย หรือกรณีครูติดราชการ หรือลาป่วย
นักเรียนสามารถศึกษาหาความรู้ได้จาก blog ประจำวิชา
5. การมีประสบการณ์ในการฝึกหัด่ทำแบบทดสอบออนไลน์ ประจำวิชานั้น ๆ ส่งผลให้นักเรียมีประสบการณ์ในการทำแบบทดสอบกลางภาค หรือปลายภาค
6. ทำให้ประหยัดกระดาษได้เป็นอย่างมาก
สำหรับแรงต้านที่กล่าวกันว่า นักเรียนไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ในปัจจุบันก็คงลดน้อยถอยลงเพราะนักเรียนสามารถใช้วิธีการกลุ่ม หรือใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ต ก็สามารถทำได้สะดวก หากนักเรียนมีปัญหา
จริง ๆ ครูผู้สอนก็ขออนุญาตใช้ห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียนเสริมให้เฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา ซึ่งปัจจุบันนับว่ามีน้อยมาก
การเรียนการสอนแบบ blog สามารถสอนเป็นกลุ่มวิชาก็สามารถทำได้ อาจารย์ท่านใดสนใจก็เปิดดูวิธีการ
สร้าง blog ได้ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการที่ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดแต่อย่างใด
มาเถอะคุณครู มาจัดการเรียนการสอนแบบ blog คู่ขนานกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนกันเถอะ
เว็บบล็อกที่นิยมใช้ได้แก่
http://thaigoodview.com
หรือ http://www.blogger.com
ไม่ลองไม่รู้ ลองทำดูซิครับ
      ในท่ามกลางทรัพยากรด้าน ICT มีความพร้อมมากมาย แต่เรากลับล็อคกุญแจด้วยกติกาที่ปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ในด้านการเรียนการสอน ปิดล็อค user name และ password ของเครื่อง PC ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนา sofeware ใหม่ ๆ เพราะไม่สามารถติดตั้งโปรแกรมใด ๆ ได้เลย จะติดตั้งโปรแกรมทีต้องรอเป็นสัปดาห์ ทำให้เสียความรู้สึกต่อการกระตือรือร้นในการศึกษาการใช้โปรแกรม  ครูของเรายังคงวงเวียนใช้ โปรแกรม Word Power Point กันเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีการพัฒนาคุณภาพบุคลากรด้านไอซีที อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างใด  เว็บไซต์วรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา มีลักษณะเป็นกระดานแจ้งข่าวสาร
มากกว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและเป็นแหล่งในการนำเสนอสื่อการเรียนการสอนของบุคลากร  นอกจากนี้ยังมีปิดกั้นการสร้างสื่อการสอนบน FTP ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายบริหารให้คำตอบที่น่าตกใจไม่น้อย คือการจะกระทำการใด ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตหรือ Server โรงเรียน กลับมอบหมายให้คน ๆ เดียวดำเนินการ ในทางปฏิบัติ แทนที่จะให้อยู่ในรูปของคณะกรรมการ จะได้ร่วมคิดร่วมให้บริการ  ส่วน
การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนรายวิชา ย่อมขึ้นอยู่กับอาจารย์ประจำวิชา ที่จะสรรค์สร้าง
ให้เป็นสื่อที่ดึงดูดความสนใจของนักเรียนให้มากที่สุด  ดังนั้นสื่อการสอนออนไลน์ของพวกเราชาววรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา เกือบไม่มีอยู่บน Server อยู่เลย หรือถ้ามีก็มีเพียงน้อยนิด
ที่สร้างหรือทำอยู่นอก Server โรงเรียน
       เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ควรจะมีการปรับปรุงกันครั้งใหญ่ เปิดใจให้กว้าง ร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรด้านไอซีที ให้มากขึ้นและต่อเนื่อง อย่าให้เว็บโรงเรียนเป็นเพียงกระดานแจ้งข่าวหรือไวท์บอร์ดแผ่นเดียวอีกเลย  เพราะงบประมาณในการทุ่มเทลงทุนมันมากมายมหาศาล สิ่งที่คืนกลับสนองตอบต่อนักเรียนและบุคลากรก็ควรมีให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตของโรงเรียนสำหรับครูก็โดนปิดกั้น หลักการหรือแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธํรรมไม่ได้มีการชี้แจงแต่ประการใดขนาดครูยังเพียงนี้   นับประสาอะไรกับนักเรียนเล่า
     จึงขอพูดเอาไว้ตรงนี้ เพื่อจะได้ปรับปรุงพัฒนาให้เป็นรูปธรรม สมเกียรติ์และศักดิ์ศรีแห่งวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา นะครับ

มหัศจรรย์โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่

เป็นปีที่ 5 แล้วสำหรับการจัดงานมหัศจรรย์โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ ซึ่งได้ลบล้างยกเลิกกิจกรรมแบบดั้งเดิมของวรนารีเฉลิม ไปโดยสิ้นเชิง สำหรับ 4 ปีที่ผ่านมาพวกเราได้นั่งลงและร่วมกันพิจารณาประเมินผลลัพธ์ ที่พวกเราได้รับ แล้วยกมาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการจัดนิทรรศการงานสรรสร้างชุมนุมแบบเดิมของวรนารีเฉลิม ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน แห่งการสนองตอบต่อความสนใจ การรวมตัวกันของนักเรียนที่มีความสนใจร่วมกัน การได้ปฏิบัติกิจกรรมที่นักเรียนมีความรัก ความชอบและความถนัด ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันหลากหลายกิจกรรมหรือหลากหลายชุมนุม เมื่อนำเอาผลงานในแต่ละชุมนุมเข้ามาจัดกันในวันเดียวกัน ทำให้นักเรียนครูอาจารย์มีความกระตือรือร้นในการสรรสร้างกิจกรรมชุมนุมของตนเองอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่มีการซ้ำซ้อนกัน
นักเรียนและครูอาจารย์เกิดความอยากรู้อยากเห็น ว่ากิจกรรมชุมนุมใดแสดงผลงานอย่างไรบ้าง ก็จะเดินเยี่ยมชมกันไม่ว่างเว้นในแต่ละเต้นท์งาน นักเรียนก็มีกำลังใจในการเนรมิตผลงานชุมนุมของตนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามัคดี ความมีคุณภาพของชุมนุมของตนเอง ทำให้บรรยายกาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความท้าทาย ความอยากรู้อยากเห็น อยากร่วมกิจกรรมกับแต่ละชุมนุม
โรงเรียนอื่น ๆ ใกล้เคียงก็อนุญาตให้นักเรียนและครูอาจารย์ นำนักเรียนมาเยี่ยมชมกิจกรรมชุมนุมของโรงเรียนวรนารีเฉลิม ของพวกเราอันอย่างมากมาย สร้างความภาคภูมิใจร่วมกันให้แก่มวลพี่น้องกรมท่าขาวเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเกิดมหัศจรรย์โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ ทำให้ภาพแห่งกิจกรรมชุมนุมตามหลักการพื้นฐานในการสนองความสนใจของนักเรียน ได้สูญหายไป นักเรียนทุกห้องทุกชั้นเรียนถูกจำกัดอยู่ใน 4 กรอบกลุ่มเหมือน ๆ กัน
ได้แก่ กลุ่มจรรยางาม กลุ่มความรู้ดี กลุ่มมีวินัย และกลุ่มใฝ่คุณธรรม เมื่อเรานำเอา 4 กรอบกลุ่มดังกล่าวมา
จัดพร้อมกันในวันเดียวกัน ก็ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน เพราะทุกชั้นทุกห้องก็อยู่ในกรอบกลุ่ม จรรยางาม ความรู้ดี มีวินัยและใฝ่คุณธรรม เหมือน ๆ กัน
ภายในเต้นท์งาน ก็มีแต่เพียงแผ่นพีวีซีบอร์ดตัดขนาดเล็ก ๆ จำนวน 4 แผ่น ติดโครงการจรรยางาม
ความรู้ดี มีวินัย และใฝ่คุณธรรมไว้อย่างละแผ่น เหมือนกันไปทั่วทุก ๆ เต้นท์ อาจจะมีการประดับประดาด้วยลูกโป่ง เชือกฟาง แผ่นซีดี กระดาษสายรุ้ง ฯลฯ แตกต่างกันไปด้วยภาพภายนอกเท่านั้น แต่ความเหมือนกัน
ความไม่หลากหลาย ความมี 4 กรอบกลุ่ม เหมือน ๆ กัน ทำให้บรรยากาศงานมหัศจรรย์โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ ซบเซาอย่างยิ่งยวด ภาพนักเรียนนั่ง นอนกันภายในเต้นท์ของตนเองมีเหมือนกันในแต่ละเต้นท์ สาระสำคัญ
ที่แต่ละห้องนำเสนอในรูปของกิจกรรมชุมนุม ไม่มีรูปร่างริ้วรอยให้แลเห็นต่อไป ทำให้นักเรียนและครูอาจารย์ขาดความกระตือรือร้นในการเยี่ยมชม แต่ละเต้นท์อย่างทั่วถึง รับผิดชอบแค่เต้นท์ของห้องเรียนตนเองให้ผ่านพ้นไป
เท่านั้นเอง
ภาพความซบเซาของกิจกรรมดังกล่าว สอดรับกับการจัดกิจกรรมขวัญใจวรนารีขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนที่ซบเซา
ได้ตื่นเต้นไปกับการเชียร์ตัวแทนห้องตนที่เข้าประกวด ทำให้มองเห็นความไม่ประสบความสำเร็จของงานได้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น อนึ่งการประกวดดาวจริยะที่พวกเราเคยจัดกัน กลับสอดรับกับกิจกรรม จรรยางาม ความรู้ดี มีวินัยและใฝ่คุณธรรม มากยิ่งกว่า
หากงานนี้ไม่มีกลุ่มสาระการเรียนรู้เ้ข้ามาร่วมจัดกิจกรรมด้วยแล้ว ก็จะเห็นภาพความว่างเปล่าของมหัศจรรย์โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ได้อย่างชัดเจนที่สุด ในประเด็นนี้ต้องยกความดีให้แต่ละกลุ่มสาระที่ตั้งใจจัดกิจกรรม
กันอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำให้นักเรียนได้รับสาระความรู้เสริมสร้างประสบการณ์มากยิ่งขึ้น ต้องขอขอบคุณ
และต้องยกนิ้วให้ด้วยความจริงใจ แม้จะเหน็ดเหนื่อยสักปานใดแต่ท่านก็สรรสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ออกมาอย่างน่า
ภาคภูมิใจยิ่ง นี่คือครูวรนารีเฉลิม ของพวกเราทุกคนเยี่ยมมาก ๆครับ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่บรรดาครูอาจารย์ จะได้มาทบทวนถึงผลดีผลเสีย ความคุ้มค่าคุ้มทุน ในฐานะที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งแห่งวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา พวกเราน่าจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวความคิด ในฐานะที่ประเทศนี้ บ้านเมืองนี้ ปกครองกันด้วยระบบประชาธิปไตย ตราบใดที่พวกเรามีความตั้งใจจริง ในการ เสนอแนะเพื่อนำพาวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ไปสู่ความเจริญ มีเกียรติ์มีศักดิ์ศรี ยืนหยัดเป็นโรงเรียนในดวงใจของบรรดาชุมชนคนสงขลา ตราบกาลนาน
หากข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งคลาดเคลื่อนไปจากสภาพความเป็นจริง ก็ต้องกราบขออภัยไว้เป็นอย่างสูง ผู้เขียน
ได้ทำการสอนที่วรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 นับถึงปัจจุบันก็สอนที่วรนารีเฉลิมมา 24 ปี
ในฐานะครูรุ่นพี่เหลืออีก 6 ปีจะเกษียณราชการแล้ว ขออนุญาตได้พูดคุยเอาไว้ตรงนี้บ้าง เผื่อพวกเรานักเรียน ครูอาจารย์ และชุมชนคนสงขลา จะได้รับทราบเอาไว้ว่าอย่างน้อยก็มีครูอาวุโสอย่างน้อยคนหนึ่งล่ะ ที่ได้กล่าวเสนอแนะเรื่องนี้เอาไว้แล้ว
แม้การเสนอแนะในครั้งนี้จะถูกมองว่าผู้เขียนเป็นปฏิปักษ์กับใคร อะไรก็ตาม แต่เจตนาบริสุทธิ์ย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ความจริงคือความจริง ความถูกต้องชอบธรรม ต้องได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในสังคมเสมอ อยากให้มีการทบทวนปรับปรุงกิจกรรมนี้โดยที่ประชุมคณาจารย์ของวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลาครับผม
เชิญคลิกแบบสำรวจซึ่งอยู่ชิดขอบด้านขวามือครับ

ขอฝากหลักการจัดกิจกรรมชุมนุมด้านล่างนี้ไว้เป็นข้อเปรียบเทียบด้วยครับ






นักเรียนทุกคน ช่วยตอบแบบสอบถามนี้ด้วยค่ะ

ดูทีวีครูเรียนรู้วิทยายุทธ

Subscribe Now: Feed Icon