Krukaroon: พฤษภาคม 2013

!!!การุณย์ สุวรรณรักษา สังคมศึกษาฯ วรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา!!

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สพฐ.ส่งหนังสือย้ำใช้ระเบียบทรงผมเดิม



สพฐ.ส่ง หนังสือซักซ้อมทำความเข้าใจถึง ผอ.เขต/ร.ร.เกี่ยวกับทรงผม นร.ย้ำระหว่างนี้ให้ยึดถือระเบียบเดิม นร.ชายไว้รองทรงได้ ส่วน นร.หญิงไว้ผมสั้นหรือยาวได้โดยรวบให้เรียบร้อย

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตน ได้ลงนามในหนังสือ สพฐ.ด่วนที่สุดที่ ศธ.04001/ว 1517 เรื่องการซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทุกเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนเรื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิบัติตามกฎีระเบียบ ที่ตรงกัน โดยขอให้สถานศึกษาปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน ดังนี้ 1.นักเรียนชายให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ หากไว้ผมยาวด้านข้างและด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม เช่น แบบทรงผมรองทรง และ 2.นักเรียนหญิงให้ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวต้องรวบให้เรียบร้อย
       
       “ที่ ต้องทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวนั้น เพื่อป้องกันความสับสน เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดการสื่อสารคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติเรื่องทรงผมนัก เรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย หรือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ราชบุรี ซึ่ง สพฐ.ได้ทำความเข้าใจไปยังผู้บริหารโรงเรียนใหม่แล้วว่า ขอให้สถานศึกษาปฏิบัติเรื่องของทรงผมนักเรียนเป็นแนวทางเดียวกัน โดยขณะนี้ขอให้ยึดถือกฎกระทรวง พ.ศ.2518เป็นหลัก เพราะ กฎกระทรวงดังกล่าวให้เด็กไว้ผมรองทรงได้ หรือไว้ผมยาวได้ตามที่กำหนด โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียน พ.ศ... ฉบับใหม่ เรียบร้อยซึ่งหากมีการประกาศใช้ สพฐ.ก็จะแจ้งไปยังสถานศึกษาทราบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่ของร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ไม่ต่างกับร่างเดิมเพียงแต่มี รายละเอียดเพิ่มเติมบ้าง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว



ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ

      สำหรับนักเรียนโรงเรียนวรนารีเฉลิม  จังหวัดสงขลา  อนุญาตให้นักเรียนหญิงไว้ผมยาวเลยติ่งหู
สองเซนติเมตรครึ่ง  นักเรียนชายอนุญาตให้ไว้ผมรองหวีเบอร์สอง น่าจะพอเหมาะสมนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผู้ปกครอง-นร.ชี้กฎทรงผมใหม่ทำเด็กห่วงสวยแข่งกันแต่งตัว



      ผู้ ปกครอง-นร.ติง ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ เปิดช่อง นร.หญิงซอยผมได้ ติงเป็นการส่งเสริมให้เด็กห่วงสวย แข่งกันแต่งตัวมากไป ด้าน เลขาฯ สพฐ.แจงแค่ผ่อนคลายกติกาให้ นร.เลือกเองว่าจะไว้ผมทรงใด แต่ต้องอยู่บนความเหมาะสมและรู้จักบทบาทหน้าที่ตนเองด้วย ด้าน “พงศ์เทพ” มั่นใจตัดคำว่าห้ามนักเรียนซอยผมออกไม่น่ามีปัญหา ลั่นไม่ได้เอาใจเด็ก แค่กำลังสอนการคิดมีเหตุและผลในสังคมประชาธิปไตย
       
       วันนี้ (16 พ.ค.) ที่โรงเรียนสตรีวิทยา นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียนนักศึกษา พ.ศ....ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับใหม่นี้เปิดช่องให้นักเรียนหญิงไว้ทรงผมสั้น หรือ ผมยาวโดยต้องรวบให้เรียบร้อย หรือซอยผมได้ ว่า ร่างฯ ดังกล่าวเป็นเสมือนกับผ่อนคลายกฎกติกาลงเท่านั้น ซึ่งนักเรียนจะเลือกทางใด เป็นสิทธิส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับค่านิยม และวัฒนธรรมของโรงเรียนด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้มีอะไรไปบังคับ แต่ขอให้นักเรียนมาตกลงกันเอง เช่น รุ่นพี่หรือประชาคมในโรงเรียนมาคุยกันแล้วคิดว่าจะใช้ทรงผมอะไรที่เป็น เอกลักษณ์ของโรงเรียน ก็ขอให้ตกลงกัน เพราะถือว่าเป็นสิทธิของนักเรียน เป็นต้น

 “ส่วน ข้อห่วงใยของผู้ปกครองที่กังวลว่าการให้อิสระนักเรียนในการซอยผมได้ จะทำให้เด็กตามแฟชั่นมากขึ้น รวมถึงอาจจะทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมได้นั้น ผมก็เห็นด้วย เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกโรงเรียนเน้นย้ำกับนักเรียน ว่าแม้ศธ.จะผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับทรงผมก็ตาม แต่นักเรียนต้องคำนึงถึงกรอบของความเหมาะสม ความพอดี เพราะเราทุกคนมีหน้าที่ และหน้าที่ของการเป็นนักเรียนจะต้องมุ่งเน้นการตั้งใจเรียนเป็นหลักสำคัญ ถ้ามัวแต่ไปมุ่งเกี่ยวกับเรื่องทรงผม เรื่องการแต่งกายจะทำให้จิตใจไขว้เขวออกไปจากการเรียนได้ และอาจจะทำให้ผู้ปกครองมีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อยากฝากถึงนักเรียนว่า อิสระเรามีได้ แต่ต้องคำนึงถึงความพอดีและเหมาะสม” นายชินภัทร กล่าว
       
       ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า สาเหตุที่ตนให้ตัดคำว่า “ห้ามนักเรียนซอยผม” ออก เพราะเห็นว่า เวลานักเรียนชายตัดผมจะต้องมีการซอย หรือแม้กระทั่งทรงรองทรงก็ต้องมีการซอย ดังนั้นร่างเดิมที่กำหนดว่า ห้ามนักเรียนซอยผม อาจจะทำให้มีการตีความไปในทางที่ผิด จึงคิดว่า คำว่าห้ามซอยผม ถ้าทิ้งไว้จะทำให้มีปัญหา เลยต้องตัดออก แต่ตามหลักการก็คือ นักเรียนผู้ชายตัดผมรองทรง ส่วนนักเรียนหญิงสั้นก็ได้ ยาวก็ได้ แต่ถ้ายาวก็ขอให้รวบให้เรียบร้อย
       
       “ผม ไม่คิดว่าคำว่าซอยผมมีปัญหา แต่สิ่งที่เรากลัวคือ เวลาบอกห้ามซอย เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าผมที่ตัดออกมาจะซอยไม่ได้เลย ซึ่งผิดธรรมชาติของการตัดผม และคิดว่าคำว่าซอยผม เป็นส่วนหนึ่งของการตัดผม ส่วนที่ตัดคำว่า “โรงเรียน อาจกำหนดแบบทรงผมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ โดยให้รับฟังความคิดเห็นและทำประชาพิจารณ์ร่วมกับนักเรียนให้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการสถานศึกษาก่อน” ออก จากร่างดังกล่าวด้วย ก็เพื่อต้องการให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ไปริดรอนสิทธิของนักเรียน ไม่ใช่เป็นการร่างระเบียบขึ้นมาเพื่อเอาใจเด็ก สิ่งสำคัญคือเรากำลังสอนให้เด็กเป็นคนที่มีเหตุผลในสังคมประชาธิปไตย ที่เวลาจะทำอะไรต้องมีเหตุมีผล รู้จักคิด ถ้าเราบอกให้เขาตัดทรงเกรียนเหมือนสมัยก่อน ก็ต้องถามว่ามีเหตุผลอะไรที่จะไปบอกให้เขาตัดทรงนั้น เมื่ออธิบายไม่ได้ และสั่งให้เด็กทำ ก็เท่ากับเป็นการสอนให้เด็กรับคำสั่ง ที่ไม่มีเหตุผล” นายพงศ์เทพ กล่าว
       
       ด้าน นางจำนงค์ แจ่มจันทร์วงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า ถือ เป็นเรื่องใหม่ที่เปิดช่องให้นักเรียนซอยผมได้ ซึ่งที่เรารู้มาตลอดของการปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงเรื่องทรงผมนักเรียน คือ การให้ไว้ผมยาวได้และเก็บรวบให้เรียบร้อย แต่ก็ถือเป็นความทุกข์เล็กๆ ของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนสตรีวิทยา มีวัฒนธรรมการไว้ผมสั้นอย่างยาวนานทั้งระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ถือเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน แต่เมื่อนโยบายออกมาแบบนี้เราก็ไม่ต่อต้าน ก็ เข้าใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ซึ่งคณะกรรมการโรงเรียน และสมาคมศิษย์เก่าได้ตกลงทำความเข้าใจร่วมกันว่าจะให้ไว้ผมยาวๆ อย่างไร และสั้นๆ อย่างไร แต่หากเด็กคนใดประสงค์จะไว้ผมสั้นตามระเบียบเดิมก็สามารถทำได้ แต่ยืนยันจะไม่ให้มีการซอยผมหรือทำสีผมอย่างแน่นอน เพราะเด็กทุกคนต้องอยู่ในกรอบของระเบียบวินัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีเด็กของโรงเรียนประมาณ 50% ที่อนุรักษ์ไว้ผมสั้นอยู่
       
       น.ส.มนทิตา เพ็ชรอุดม นัก เรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า ได้รู้ข่าวเรื่องระเบียบทรงผมใหม่จากผู้ปกครองเมื่อเช้า ส่วนตัวรู้สึกเห็นด้วย ซึ่งเท่าที่คุยกับคุณพ่อก็เห็นด้วยกับระเบียบนี้เช่นกัน เพราะคุณพ่อมองว่าเด็กสมัยนี้ควรจะต้องให้อิสระบ้าง แต่จะต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม แต่ตนเองก็ตั้งใจจะไว้ผมยาว และรวบผมตามที่โรงเรียนขอความร่วมมือว่าใครที่ไว้ผมยาวจะต้องรวบผม และผูกด้วยโบว์สีขาว
       
       ขณะที่ ด.ญ.นภัส พฤกษ์ศรีสาคร นักเรียนชั้นม.1 โรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า ตน ไม่เห็นด้วยที่ ศธ.ออกกฏระเบียบให้นักเรียนสามารถซอยผมได้ เพราะมองว่าการเป็นนักเรียนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัย ซึ่งกฏก็ต้องเป็นกฎ ยิ่งการเปิดกว้างให้นักเรียนมีอิสระในเรื่องทรงผมจะทำให้ นักเรียนแข่งขันเรื่องแฟชั่นมากขึ้น ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะรักสวยรักงามมากขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาถูกล่อลวงไปทำมิดีมิร้าย เพราะเมื่อเราแต่งตัวสวยขึ้นคนก็จะมอง แต่ถ้าเราแต่งตัวอยู่ในระเบียบวินัยเรียบร้อย คนก็จะไม่สนใจเพราะเห็นว่าเราเป็นเด็ก
       
       นางเนตรสุรางค์ ก้องสิทธิโชค ผู้ ปกครองนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะเด็กก็คือเด็ก ไม่เข้าใจว่า ศธ.จะส่งเสริมให้เด็กแข่งขันแต่งตัวกันไปถึงไหน หากเด็กแต่งตัวเป็นสาวคนก็จะมอง และเด็กก็จะแข่งกันแต่งตัว ซึ่งตนเองเห็นว่าเด็กยังมีอย่างอื่นให้ต้องสนใจมากกว่าเรื่องนี้ เช่น การตั้งใจเรียน
       
       “จริงๆ อยากให้กลับไปใช้ระเบียบเดิมที่กำหนดให้เด็กตัดผมสั้น และทรงเกรียนเหมือนกันทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบ และไม่ต้องมาแข่งขันกันเรื่องแต่งตัว เพราะทุกวันนี้เด็กก็แข่งกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า รองเท้าที่จะต้องเป็นของแบรนด์เนม ถ้าปล่อยให้เป็นอิสระมากเกินไปก็จะทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อมากขึ้น ที่สำคัญเด็กผู้หญิงก็จะอันตราย ยิ่งเด็กหน้าตาดีหากแต่งสวยก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาถูกทำมิดีมิร้ายได้” นางเนตรสุรางค์ กล่าว



 ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ



ศธ.ย้ำทรงผมžต้องเหมาะสม


 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการกพฐ. กล่าวถึงกรณีรมว.ศธ.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกาย และแบบทรงผมของนักเรียน นักศึกษา โดยให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรง และให้นักเรียนหญิงเลือกไว้ทรงผมสั้นหรือยาวได้ กรณีไว้ยาวให้รวบ นอกจากนี้ยังให้นักเรียนหญิงสามารถซอยผมได้ ว่า จริงๆ แล้วกฎกติกาให้การผ่อนปรน ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ขึ้นอยู่กับค่านิยม และวัฒนธรรมของโรงเรียนด้วย สพฐ.ไม่ได้บังคับ แต่ขอให้ตกลงกันเอง ถ้ารุ่นพี่หรือประชาคม คิดว่าจะใช้ทรงผมอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน ก็ขอให้ตกลงกัน ถือเป็นสิทธิของนักเรียน 

 นายชินภัทรกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองห่วงใยว่าการให้อิสระนักเรียนในการซอยผมได้ จะทำให้เด็กตามแฟชั่นมากขึ้น และอาจทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมนั้น ตนเห็นด้วย ดังนั้นจึงขอให้ทุกโรงเรียนเน้นย้ำนักเรียน ว่าแม้ศธ.จะผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับทรงผม แต่ขอให้นักเรียนคำนึงถึงกรอบของความเหมาะสม ความพอดี เพราะทุกคนมีหน้าที่ และการเป็นนักเรียนจะต้องตั้งใจเรียน และถ้ามัวแต่ไปมุ่งเกี่ยวกับเรื่องทรงผม การแต่งกาย จะทำให้จิตใจไขว้เขวออกไปจากการเรียนได้ และอาจทำให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อยากฝากถึงนักเรียนว่า อิสระเรามีได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม

 ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงที่ปรับแก้ถ้อยคำโดยตัดคำว่าห้ามนักเรียนซอยผมออกนั้นจะได้ตัด ปัญหาการตัดผมสมัยใหม่ เพื่อทำความเข้าใจการตัดผมได้ง่ายขึ้น มองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา หลักใหญ่อยู่ที่นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่ทางโรงเรียนจะเป็นผู้กำหนดว่า ถ้าไว้ผมยาวก็รวบผมให้เรียบร้อย หรือถักเปีย ทั้งนี้ กฎดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบก่อน โดยขณะนี้ให้ยึดถือกฎกระทรวงปี 2518 เป็นหลัก ซึ่งศธ.ทำหนังสือแจ้งไปยังสถานศึกษาทุกแห่งแล้ว

ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สพฐ. หนุนครูใช้ประโยชน์จาก Social Media

สพฐ. หนุนครูใช้ประโยชน์จาก Social Media เป็นช่องทางจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบหวังขยายผลไปสู่ครูทั่วประเทศ
      
       นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการนำร่องพัฒนาศักยภาพบุคลากรและส่งเสริมการใช้ Social Media โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนรู้ จัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ พร้อมกับฝึกปฏิบัติในการใช้เครื่องมือที่มีในสื่อสังคมออนไลน์ให้แก่ครูทั่ว ประเทศที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 200 คน ตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการพัฒนาครูพบว่า ครูสามารถสร้างผลงานที่เกิดจากการใช้เครื่องมือออนไลน์ขยายเป็นเครือข่ายใน Social Media และนำไปประยุกต์ใช้จัดการเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างหลากหลายวิธี ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างครู, ครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน สามารถตอบโจทย์ครูที่ต้องการแก้ปัญหาในชั้นเรียนด้านต่างๆ เช่น การไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนในชั้นเรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน แก้ปัญหาด้านอื่นๆ ของนักเรียน เป็นต้น


           ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       อย่างไรก็ตาม สพฐ.ให้ความสำคัญและตระหนักดีว่ายังมีบุคลากรครูอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังขาดความรู้ ความชำนาญในการใช้เครื่องมือออนไลน์ จึงได้นำครูที่มีความสามารถด้านไอทีเข้าร่วมปฏิบัติการนำ Social Media เข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ การเลือกใช้ Tools Online เพื่อการศึกษา การสร้างบล็อกด้วยโปรแกรม Wordpress และการเข้าสู่ Social Network ด้วยการใช้ Facebook และ Twitter โดยทีมผู้เชี่ยวชาญในโครงการ“ก้าวใหม่ของครูไทย ก้าวไกลด้วย Social Media” เพื่อให้บุคลากรครูสามารถก้าวทันยุคเทคโนโลยีใหม่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ขยายผลไปสู่ครูทั่วประเทศ
      
       “เมื่อครูมีความรู้ความสามารถในการ เข้าถึงเทคโนโลยี และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการใช้ Social Media ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ ที่จะทำให้บุคลากรครูยุคใหม่สามารถนำพาผู้เรียนไปสู่การเรียนรู้อย่างไม่ จำกัด” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

งดเด็กทำบัตรประจำตัวประชาชนสิ้นเปลืองงบประมาณ

รายละเอียดของข่าว

ชะลอแจกแท็บเล็ตม.4 และปวช.



เผยครม.อยากเปลี่ยนไปแจกคอมฯโน๊ตบุ๊คให้สามารถรองรับการเรียนรู้ที่สูงขึ้นได้ ด้านสพฐ.เตรียมขอแปลงงบฯซื้อแท็บเล็ตไปใช้ซื้อรถรับส่งนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กแทน วันนี้(1พ.ค.) ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนม.4 และนักศึกษาปวช.ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ชะลอเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าประสิทธิภาพของเครื่องแท็บเล็ตอาจจะทำงานได้แค่ระดับหนึ่ง แต่นักเรียนในระดับ ม.ปลายจะต้องมีการทำงานที่เป็นชิ้นงาน มีการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นว่าเครื่องมือของนักเรียนในระดับ ม.ปลายควรจะต้องมีสมรรถนะสูงกว่าแท็บเล็ตของเด็กประถม และต้องสามารถทำงานเอกสาร งานพิมพ์ งานฐานข้อมูล และงานออกแบบต่างๆ ได้ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพูดกันว่าอาจจะต้องเป็นคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คแทน เพราะสามารถทำงานต่างๆ เหล่านั้นได้ " ในส่วนของ สพฐ. ได้ตั้งงบฯจัดซื้อแท็บเล็ตสำหรับเด็ก ม.4 ไว้ 2,700 ล้านบาท แต่เมื่อ ครม. มีมติให้ชะลอออกไปก่อนก็จะเสนอขอปรับงบฯ ในส่วนนี้ไปใช้ในรายการอื่นแทน โดยหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องการเตรียมการเพื่อรองรับการปฏิรูปหลักสูตร เพราะต้องมีการขับเคลื่อนทั้งในแง่ของการพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาสื่อการสอน นอกจากนี้จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ในส่วนของการจัดซื้อรถตู้เพื่อเป็นพาหนะสำหรับรับส่งนักเรียน อีกทั้งจะนำไปใช้ในการก่อสร้างซ่อมแซม และครุภัณฑ์ด้วย" ดร.ชินภัทร กล่าว ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สอศ. ได้ตั้งงบฯ จัดซื้อแท็บเล็ตสำหรับเด็ก ปวช. ปี 1 จำนวน 1,200 ล้านบาท ซึ่ง สอศ.ก็จะเสนอขอปรับงบฯ ในส่วนนี้ไปใช้ในการดำเนินโครงการทวิภาคี และการจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาประจำอำเภอแทน ด้านนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สำหรับ สช.ได้เสนอของบฯ จัดซื้อแท็บเล็ตประมาณ 400 ล้านบาท หลังจากนี้ สช.จะทำเรื่องเสนอขอปรับงบฯ ดังกล่าวเพื่อนำไปจ่ายเงินเดือนครูเอกชนให้ได้รับ 15,000 บาทตามนโยบายของรัฐบาลที่ขณะนี้ยังจ่ายได้ไม่ครบ โดยล่าสุดเพิ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจากสำนักงบฯมาเพียง 200 ล้านบาทเท่านั้นจากที่ขอไป 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สช.ได้ยื่นเรื่องเสนอครม.เพื่อขออนุมัติงบประมาณในส่วนนี้ไปแล้ว แต่ยังไม่มีการพิจารณา ขอขอบคุณข่าวสาร/

ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

นักเรียนทุกคน ช่วยตอบแบบสอบถามนี้ด้วยค่ะ

ดูทีวีครูเรียนรู้วิทยายุทธ

Subscribe Now: Feed Icon