Krukaroon: ปรับคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 5

!!!การุณย์ สุวรรณรักษา สังคมศึกษาฯ วรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา!!

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปรับคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 5


ปรับครม.ปู5กอบกู้'ขาลง' เร่งรัด'ทักษิณ'กลับบ้าน : สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์รายงาน


              ชัดเจนว่า การปรับ ครม.ครั้งใหม่ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นไปเพื่อ "กู้สถานการณ์" รัฐบาล "ขาลง" ที่กำลังเจอพิษโครงการจำนำข้าว และอีกสารพัดปัญหาที่รุมเร้าเข้ามา ซึ่งหากเป็นไปตามโผก็ต้องบอกว่า ครม. "ปู 5" จะเป็น ครม.ที่หน้าตาดีที่สุดของรัฐบาลชุดนี้

              นอกจากเหตุผลใหญ่ คือ เพื่อกู้สถานการณ์ขาลงแล้ว หากพิจารณาในรายละเอียด จะเห็นว่า เป็นการปรับ ครม.ที่ตอบโจทย์ทางการเมืองได้อีกหลายเรื่อง

              หนึ่ง ปรับเอารัฐมนตรีที่มีปัญหาออก เห็นได้ชัดจากกรณีของ "นายบุญทรง เตริยาภิรมย์" ที่โดนปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพราะบริหารงานผิดพลาดในโครงการจำนำข้าว ถึงแม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า นายบุญทรง ก็เป็นเพียง "แพะรับบาป" แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มาแสดงความรับผิดชอบด้วยในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เพราะโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล หรือจะให้รัฐบาลตรวจสอบลากไปว่า มี "ใคร" อยู่เบื้องหลังความผิดพลาดของนายบุญทรง ที่ถูกมองว่าเป็นเพราะมีเจตนา "ทุจริต" ดังนั้นการปลดนายบุญทรง จึงเป็น "ทางเลือก" ที่ดีที่สุดของรัฐบาล

              เรื่องนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจปรับ ครม.เร็วขึ้นกว่าเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะทำช่วงเปิดสมัยประชุมสภาประมาณต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งรัฐบาลจะมีอายุครบ 2 ปีพอดี

              นอกจากนายบุญทรงแล้ว นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ที่ถูกปรับพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็เป็นอีกคนที่จัดว่า ถูกปรับออกไปเนื่องจากมีปัญหาในการบริหารงาน โดยเฉพาะกรณีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ปรากฏข่าวว่านายวรวัจน์พยายามเข้าไปล้วงลูกเรื่องการใช้จ่ายเงินถึงขั้น ข้าราชการแต่งชุดดำประท้วง

              สอง ปรับเพื่อกู้ภาพลักษณ์ ซึ่งเห็นได้จากรัฐมนตรีใหม่ที่เข้ามา ส่วนใหญ่จะมีภาพลักษณ์ดี ไม่ว่าจะเป็น นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่มาเป็น รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่นายจาตุรนต์เคยทำงานมาก่อน, นางปวีณา หงสกุล "แม่พระของเด็กและสตรี" ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะที่แกนนำเสื้อแดง "ฮาร์ดคอร์" อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ยังคง "อกหัก" ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี

              นักวิเคราะห์มองว่า การที่อดีตนายกฯ ทักษิณต้อง "ดับฝัน" ของนายจตุพร อีกครั้ง แสดงว่าทักษิณคงอยาก "กลับบ้าน" เร็วๆ เพราะการไม่ตั้งจตุพร จะช่วยลดแรงปะทะจากฝ่ายต่อต้านไปได้พอสมควร แต่ถ้าถามว่า หมายความว่าทักษิณจะเลิกเล่นเกมแรงหรือไม่ ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะทักษิณรู้ดีว่า "พลังคนเสื้อแดง" ที่พร้อมจะปกป้องและช่วยค้ำยันรัฐบาล ไม่ได้มีเฉพาะ "แดง นปช." เท่านั้น แต่ "แดง นปช." เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งในบรรดา "คนเสื้อแดง" หลายกลุ่มที่ส่วนใหญ่อิงอยู่กับแกนนำในระดับพื้นที่ที่ต่อสายสัมพันธ์อยู่ กับนักการเมืองของพื้นที่นั้นๆ เช่น แดงภาคอีสาน ก็ยึดโยงอยู่กับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่ครั้งนี้ได้มาเป็นรองนายกฯ คุมตำรวจ หรือแดงภาคเหนือ ก็ยึดโยงอยู่กับเจ๊แดง "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" นั่นหมายความว่า ต่อให้จตุพร ไม่พอใจ และอยากแสดงฤทธิ์เดช ก็ไม่กระทบกระเทือนมากนัก โดยเฉพาะเมื่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยังมีตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี

              สาม สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ การที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมนั้น แสดงว่ารัฐบาลเลือกที่จะเล่นบท "นุ่มนวล" กับกองทัพ ตอกย้ำเรื่องที่ว่าทักษิณ "อยากกลับบ้าน" เพราะที่ผ่านมานายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นคนเดียวที่พูดจากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ "รู้เรื่อง" โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการคนเดิม หรือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ครั้งนี้ยอมลดเกรดตัวเองมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ

              พล.อ.ประยุทธ์ จะเกษียณอายุราชการในปีหน้า การจัดโผแต่งตั้งโยกย้ายทหารปีนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันหมายถึงทั้งอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะได้เกษียณในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่ หรือจะถูกเด้งไปตำแหน่งอื่น, ขณะที่อนาคตของกองทัพ ไม่ว่าจะไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ซึ่งหมายถึงอนาคตของทักษิณด้วยเช่นกันว่า เขาจะได้กลับบ้านหรือไม่

              สี่ นำผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ที่ตามโผจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็เสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ "ตกรางวัล" ให้(อดีต)ข้าราชการที่ "แนบแน่น" กับฝ่ายทักษิณได้เหมือนกัน

              สำหรับบทบาทของนายยรรยง ก่อนหน้านี้เขาได้ออกมาตอบโต้ และปะทะคารมกับพรรคประชาธิปัตย์หลายครั้ง ทั้งเรื่องสินค้าราคาแพง และเรื่องจำนำข้าว โดยนายยรรยงเล่นบทกร้าวถึงขนาดเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปลดนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากตำแหน่ง เพราะทำหน้าที่ไม่เป็นธรรม มีบุคลิกภาพไม่เหมาะสมเป็นโฆษกพรรค ถึงขนาดยืมภาษาตลาดมาใช้เปรียบเปรยนายชวนนท์ว่า หน้าตาเหมือนกับปลาบู่ชนเขื่อน

              ส่วนนางเบญจา เป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่น ในกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตอนนั้น นางเบญจา ในฐานะรองอธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกมาการันตีว่า การขายหุ้นชินคอร์ป "ไม่ต้องเสียภาษี"

              ห้า เหตุผลทางการเมือง โดยการสลับสับเปลี่ยนคนที่ทำงานให้พรรคเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เช่น นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร มือกฎหมายของพรรค เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาตร์ฯ, วิเชษฐ์ เกษมทองศรี คนใกล้ชิดทักษิณอีกคน ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งไปเป็นประธานบอร์ด ปตท. มาครั้งนี้ลาออกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม, การสลับให้ลูกชายนายเสนาะ เทียนทอง คือ นายสรวงศ์ เทียนทอง มาเป็น รัฐมนตรีแทน นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ถูกลดตำแหน่งไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แทนที่จะถูกปลดออกไปเลยนั้น ก็เพราะทั้งยิ่งลักษณ์และทักษิณ ยังมั่นใจว่า การเก็บเฉลิมไว้ใกล้ตัวน่าจะเป็นประโยชน์กว่าผลักออกไป

              ในระยะสั้น การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลเอง ส่วนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไรต้องดูกันในระยะยาว

เปิดปูมว่าที่รัฐมนตรีครม.ปู 5
              นายจาตุรนต์ ฉายแสง ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จาตุรนต์ถือเป็นคนที่ทำงานกับพรรคมาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร ต้องไปอยู่ต่างประเทศ เขาก็ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งพรรคถูกยุบ และเป็น 1 ใน 111 กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ถูกตัดสิทธินั้น เขาก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงช่วยงานพรรคอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชน หรือ พรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังช่วยงานคนเสื้อแดงในฝ่ายวิชาการ และขึ้นเวทีคนเสื้อแดงในการต่อสู้ทางการเมืองแทบทุกครั้ง

              นายจาตุรนต์นั้น ถูกมองว่าเป็นรัฐมนตรีน้ำดีคนหนึ่ง และเคยมีประสบการณ์มาแล้วหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น รองนายกฯ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.ยุติธรรมรัฐมนตรี รมว.ศึกษาธิการ และ รมช.คลัง ซึ่งครั้งนี้เขาได้กลับเข้ามาทำงานที่ถนัดและเคยได้รับคำชมเชย เนื่องจากที่ผ่านมา นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ซ้ำยังทำให้ถูกโจมตีโดยแนวคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

              วิเชษฐ์ เกษมทองศรี ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาถูกมองว่าเป็นตัวจริงอีกหนึ่งคน โดยทำงานร่วมกันมาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย และเป็นนายทุนพรรค โดยนายวิเชษฐ์เป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการเก็บความลับ

              นายวิเชษฐ์ถูกมองว่าเป็นตัวจริงคนหนึ่งและจ่อคิวรับตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ การปรับ ครม.เมื่อครั้งที่ผ่านมา แต่ก็พลาดไป จนได้กลับมาเป็นในครั้งนี้

              นางปวีณา หงสกุล เป็นนักการเมืองมานาน โดยเริ่มต้นสังกัดพรรคประชากรไทยของ นายสมัคร สุนทรเวช ต่อมาย้ายมาอยู่พรรคชาติพัฒนา จนกระทั่งมาควบรวมกับพรรคไทยรักไทย โดยเคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ถึงสองครั้ง ในปี 2543 ซึ่งครั้งนั้น นายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคประชากรไทย ได้รับเลือกตั้ง และในปี 2547 ก็พ่ายให้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ไปอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ทำให้นางปวีณาต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

              นางปวีณาเป็นที่รู้จักของสังคมในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ และทำงานที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) คอยช่วยเหลือเด็กและสตรีผู้ด้อยโอกาส และมักจะปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อ ทำให้ครั้งนี้เธอกำลังจะได้รับตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

              นายพงศ์เทพ เทพกาญจณา รองนายกรัฐมนตรี ร่วมทำงานมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย และเป็นมือกฎหมายให้พรรคมาตลอดเวลา เนื่องจากเขาเคยเป็นผู้พิพากษา แต่ได้ลาออกมาในช่วงวิกฤติตุลาการ ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเขาเคยดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม มาแล้ว และเมื่อพรรคถึงขาลง โดยการถูกรัฐประหารหรือถูกยุบพรรคถึงสองครั้ง เขาก็ยังคงช่วยงานพรรคอยู่และเป็นหนึ่งในทีมยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย รวมถึงขึ้นเวทีคนเสื้อแดงในลักษณะให้ความรู้ทางกฎหมาย รวมถึงงานสัมมนาทั่วไป ทำให้ถูกมองว่าเป็นรัฐมนตรีตัวจริงคนหนึ่ง จนได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการเมื่อครั้งที่ผ่านมา

              อย่างไรก็ตาม เมื่อมาเป็น รมว.ศึกษาธิการ กลับมีบทบาทที่ไม่เด่นชัดนัก งานที่มีอยู่มักมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยทำเสียมากกว่า เพราะมีภารกิจอื่น นอกจากนี้ยังเป็นสายล่อฟ้า เมื่อนำเสนอนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กและจัดซื้อรถตู้รับส่ง 1,000 คันแทนจนถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

              นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวิสารเคยเป็น ส.ส.เชียงราย พรรคไทยรักไทย โดยอยู่ในกลุ่มของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา ทั้งนี้เมื่อนายวิสารถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากการยุบพรรคไทยรักไทย จากนั้นนายวิสารก็ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองและส่ง น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ลงแทน

              ก่อนหน้านี้นายวิสารถูกคาดการณ์ว่าจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่นายใหญ่กังวลว่า นายวิสารจะเข้ามารื้อระบบในกระทรวงทรัพยากรฯ เช่นเดียวกับสมัยนายยงยุทธ และเป็นที่มาของการรื้อรีสอร์ทตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ

              นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันเป็น ส.ส.ยโสธร และทำหน้าที่เป็นทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เขาเคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาได้ลงเล่นการเมืองและสังกัดมาหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคความหวังใหม่ ขณะที่ในนามพรรคไทยรักไทยเขายังไม่เคยลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่ก็เป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และต่อมาก็ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย

              นายพีรพันธุ์ มีความสัมพันธ์อันดีกับ ส.ส.ในพรรคหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง อีกทั้งทำงานให้พรรคมานาน จึงถึงลำดับที่ควรจะขึ้นชั้นเป็นรัฐมนตรี โดยครั้งนี้จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แทน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ซึ่งมีปัญหาภายในกระทรวงจนถูกประท้วงและถูกปรับออกในที่สุด

              นายชัยเกษม นิติสิริ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตอัยการสูงสุด ระหว่างปี 2550-2552 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส (ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด) สำนักงานอัยการสูงสุด เขาได้รับตำแหน่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายตำแหน่ง เช่น ประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

              อย่างไรก็ตาม นายชัยเกษมถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ฟ้องร้องคดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX 9000 ในฐานะอดีตกรรมการบริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ต่อมาเมื่อ คตส.หมดวาระได้มีการโอนคดีนี้มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ป.ป.ช.ได้มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนเขาอยู่ในขณะนี้

              นายสรวงศ์ เทียนทอง ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสรวงศ์เป็นบุตรชายนายเสนาะ เทียนทอง นักการเมืองรุ่นเก๋า โดยครั้งนี้เขาจะเข้ามาแทนในโควตาของกลุ่มนายเสนาะ ทำให้นายฐานิสร์ เทียนทอง หลานนายเสนาะ ต้องพ้นจากตำแหน่ง รมช.อุตสาหกรรม
...............................
(หมายเหตุ : ปรับครม.ปู5กอบกู้'ขาลง' เร่งรัด'ทักษิณ'กลับบ้าน :  สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นักเรียนทุกคน ช่วยตอบแบบสอบถามนี้ด้วยค่ะ

ดูทีวีครูเรียนรู้วิทยายุทธ

Subscribe Now: Feed Icon