ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา การศึกษาในเมืองไทย
ประเทศไทยรั้งท้ายอยู่อันดับที่ 50 เป็นสรุปรายงานประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซ่า (PISA) จำนวน 65 ประเทศทั่วโลก
นักเรียนไทยมีผลประเมินอยู่ในกลุ่มต่ำ 3 วิชา คือ การอ่าน, คณิตศาสตร์, และ วิทยาศาสตร์
“PISA เตือนการศึกษาไทยมาตลอดว่าการปล่อยให้ครูขาดแคลนสะสม ครูสอนไม่ตรงวุฒิ การกวดวิชา ล้วนส่งผลทางลบต่อคุณภาพทางบวกการเรียนรู้และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน” ตุลย์ ณ ราชดำเนิน เขียนไว้ในข่าวสด (ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2554 หน้า 26) แล้วบอกอีกว่า
“แม้แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน ผลประเมินไม่พบภาพเชิงบวก แต่พบข้อมูลชี้ว่านักเรียนที่ใช้มากที่สุด กลับมีคะแนนต่ำสุดในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และความเข้าใจจากการอ่าน”
สะท้อนวิธีคิด “ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา” อันเป็นลักษณะสังคมด้อยพัฒนา บ้าคลั่งเทคโนโลยีตามฝรั่ง “ช้างขี้ ขี้ตามช้าง” จนตูดทะลักดากทะลุ
“การศึกษาไทยมุ่งเน้นแต่เรื่องวัตถุ อุปกรณ์ทันสมัย แต่ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียน ที่เน้นท่องจำตามครู เลยปฏิรูปไม่สำเร็จ” ศ.ดร. เจอรัลด์ ดับเบิลยู ฟราย แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐ ที่จุฬาฯ และสถาบันต่างๆ เชิญมาบรรยายเมื่อไม่นานนี้บอกไว้
“อย่าปล่อยให้การศึกษาและอนาคตของชาติตกอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตนี้ได้เลย” รุ่ง แก้วแดง (ประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง เพื่อสันติสุข 3 จังหวัดชายแดนใต้) เขียนบอกไว้ใน มติชน (ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2554 หน้า 7) แล้วบอกอีกว่า
“โรงเรียนต้องเพิ่มบทบาทของกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น
จะต้องทำให้การศึกษาของลูกหลานเป็นเรื่องของทุกคนในชุมชน ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น”
กรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนในชนบทจำนวนไม่น้อยถูกแต่งตั้งให้เป็นแค่ไม้ประดับและให้ครบจำนวนที่กำหนดไว้เท่านั้น
ยังมีภาคเอกชนที่ใฝ่ใจทางการศึกษาอีกมากและมีศักยภาพทำกิจกรรมสนับสนุน โรงเรียนด้านวิชาความรู้ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งเชื้อเชิญให้เป็นกรรมการสถานศึกษาและไม่มีส่วนร่วม กิจกรรมด้านการศึกษา
จะเป็นเพราะผู้บริหารโรงเรียนมีวิสัยทัศน์คับแคบเลยมีเครือข่ายจำกัด หรือเพราะไม่ค่อยเอาใจใส่ดูแลนักเรียน เนื่องจากต้องติดตามปรนนิบัติดูแลนายก็ไม่รู้
เด็กนักเรียนทั้งหลายเลยเสียโอกาส ยิ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็ยิ่งน่าสังเวช
ช่องทางบรรเทาเบื้องต้น ควรเปิดกว้างให้กรรมการสถานศึกษามาจากคน ต่างถิ่น ผู้บริหารโรงเรียนต้องเร่งเสาะหาเชื้อเชิญผู้ใฝ่ใจทางการศึกษามาร่วมพัฒนา โรงเรียน เพื่อประโยชน์ของเด็กนักเรียนแล้วรวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชนด้วย ดังผลประชุมเรื่องแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่ จ. ภูเก็ต เมื่อเร็วๆนี้ (มติชน ฉบับวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2554 หน้า 22)
แต่ผู้บริหารโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการส่งมามีปัญหาเสียแล้วตั้งแต่ แรก ซ้ำมิหนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนมากยังอ่อนแอและมักไม่เอาเรื่องการศึกษา เพราะอ่อนความรู้และขาดประสบการณ์
หมดท่าเลยทีนี้ ไม่รู้จะพึ่งใคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น