Krukaroon

!!!การุณย์ สุวรรณรักษา สังคมศึกษาฯ วรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา!!

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แจกแท็บเลตพีซี ...เครื่องมือปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก หรือ เป็นความสิ้นเปลือง และการหาประโยชน์ของพรรคเพื่อไทย?




เทคโนโลยีด้านแท็บเลตพีซี(Tablet PC) ยังถือว่าเพิ่งแค่เริ่มต้นเท่านั้น รูปแบบการใช้งานของแท็บเลตพีซียังถูกใช้ เพื่อ “ทดแทนการใช้งานพีซี” เป็นหลัก เช่น การท่องเว็บ อ่านอีเมล โซเชียลเน็ตเวิร์ค ดูหนังออนไลน์ ฯลฯ   และมีข้อมูลระบุว่า เรายังไม่เห็นการนำแท็บเลตพีซีมาใช้เปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ (ที่ถูกเซ็ตโดยพีซีธรรมดา)ไปมากเท่าไรนัก  ในด้านตลาดผู้บริโภค ก็เพิ่งจะเริ่มเห็นแท็บเลตพีซีถูกใช้งานเพราะรูปแบบที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะเกมและความบันเทิงที่ใช้วิธีการสั่งงานด้วยการสัมผัสผ่านหน้าจอได้ง่ายกว่า (ซึ่งเป็นจุดต่างสำคัญของแท็บเลตพีซีกับคอมพิวเตอร์พีซี) และในภาคธุรกิจแล้วนั้น ก็ยังไม่เห็นการใช้งานนอกเหนือจากการอ่านอีเมล อ่านเอกสาร และอ่านเว็บ  
จึงถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังต้องอาศัยการออกแบบเพื่อให้ใช้งานอย่างเกิดประโยชน์และการยอมรับจากผู้บริโภค  แม้เราจะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการสื่อสารและรูปแบบการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ จนทำให้พรรคเพื่อไทยนำมาชูเป็นนโยบายหนึ่งในการหาเสียงก็ตาม
ตามนโยบายด้านการศึกษาที่พรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงเอาไว้นั้น  ในปีการศึกษาหน้า(๒๕๕๕) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ( ป.๑)ทุกคนจะได้รับแจกแท็บเลตพีซี (ซึ่งมีหน้าตาคล้ายๆ กับเครื่อง iPad) จำนวนราวๆ ๘ แสนคนทั่วประเทศ ใช้จำนวนเครื่องเท่ากับจำนวนเด็ก(ที่พรรคเพื่อไทยใช้คำว่า "One Tablet per Child")   โดยโครงการนี้จะใช้เงินงบประมาณประเทศราวๆ ๕,๐๐๐ ล้านบาท
แต่เมื่อจะมีการนำมาสู่การปฏิบัติจริงในเร็วๆ นี้ ก็เกิดการกังวลใจถึงความคุ้มค่าหรือประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจากการใช้เครื่องแท็บเลตพีซี ทั้งในภาพรวมและภาพย่อยที่จะเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ

 ทางพรรคเพื่อไทยเคยระบุถึงแท็บเลตพีซีว่า จะเป็นเหมือนกับ “อีบุ๊ก”(E-Book)ที่มาพร้อมกับโปรแกรมการเรียนการสอน หรือ คอร์สแวร์(Courseware) สามารถใช้กับเครือข่ายไร้สายไว-ไฟ(ฟรี)  การลงทุนแจกแท็บเลตให้กับเด็กครั้งนี้ หากคิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจะตกอยู่ที่   ๑.๘๒ บาทต่อคนต่อวัน   แล้วก็ระบุว่า ถือเป็นการลงทุนในการพัฒนาบุคลากรที่คุ้มค่าเป็นการเพิ่มศักยภาพคน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ 
โดยอาจจะมีการสั่งเครื่องแท็บเลตพีซีเหล่านี้มาจากประเทศจีนหรืออินเดียนำเข้ามาประกอบในเมืองไทยก่อนที่จะได้แจกจ่ายไปยังเด็กนักเรียนชั้น ป.๑ ทั่วประเทศ โดยราคาเครื่องที่จะสั่งมาจากอินเดียนั้นอยู่ที่ประมาณ ๑,๕๐๐ บาท แต่หากเครื่องที่นำเข้ามาจากประเทศจีนจะอยู่ที่ ๓ - ๔,๐๐๐ บาท (พรรคเพื่อไทยตั้งงบประมาณไว้เครื่องละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท)  แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เครื่องไม้เครื่องมือที่นำเข้าจากบางประเทศนั้นมีคุณภาพต่ำ มีความคงทนน้อย เพราะสินค้าที่ผลิตจากประเทศเหล่านั้นต่างก็เน้นการใช้ต้นทุนต่ำในการผลิต และเมื่อนำไปใช้กับเด็กๆ ที่ยังไม่สามารถดูแลรักษาเครื่องไม่เครื่องมือที่มีราคาแพงด้วยแล้ว ก็น่าจะเกิดปัญหาได้ง่าย   
ปัญหา มากมายกำลังจะตามมาทุกขั้นตอน เช่น โปรแกรมที่จะใส่ลงไปในเครื่องนั้น การเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งการสอนให้เด้กใช้งาน การเปิดปิดเครื่อง การเก็บรักษาเครื่อง การเตรียมความพร้อมของเด็กก่อนการใช้งาน ทำให้มีการใช้งานที่ไม่คุ้มค่า และครูน่าจะมี “ข้อห้าม”อีกมากมาย โดยเฉพาะการอนุญาตให้เด็กนำกลับไปใช้ทำการบ้าน เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนของลูกหลาน    แม้จะมีบริษัทเอกชนหลายแห่งเตรียมตัวเข้ามาเสนอบริการแบบ “โททัลโซลูชัน” (Total Solution) ด้วยการให้บริการครบวงจรทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์การเรียนการสอน(เนื้อหา) ซอฟต์แวร์การจัดการการเรียนการสอน การควบคุม การกระจายสื่อ   รวมถึงการบริการดูแลบำรุงรักษาเครื่องก็ตาม
แต่ดูเหมือนจะมีความกังวลใจกันมากขึ้นต่อไปอีก เมื่อต้องพิจารณาถึงประเด็นประสิทธิภาพ หรือความคุ้มค่า คุ้มทุน(Cost Effectiveness)   เพราะมิใช่เพียงแค่เด็กในเมืองเท่านั้นที่จะได้รับการแจกแท็บเลตพีซีเหล่านี้ เด็กๆ ในชนบทที่ห่างไกลก็ยังจะได้รับการแจกจ่ายเช่นเดียวกัน  ทุกๆ โรงเรียนต่างก็อยากได้เครื่องแท็บเลตพีซีมาให้นักเรียนและครูใช้ในการเรียนการสอน และเพราะว่าเป็นหน้าตาให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาอีกประการหนึ่งด้วย

 เมื่อจะทำโครงการใดๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนทางการศึกษา ก็ควรจะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของการลงทุนนั้นให้ครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านปริมาณ (Quantity) ๒) คุณภาพ (Quality) ๓) เวลา (Times) และ ๔)ค่าใช้จ่าย(Expenses)จึงจะถือว่า ถูกต้อง เหมาะสม
  โครงการแจกแท็บเลตพีซีก็ควรจะต้องถูกประเมินประสิทธิภาพอย่างรอบด้านเช่นเดียวกัน จึงจะแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมแก่เด็กๆ ของเรา   ได้แก่ 
            ๑) ปริมาณหรือจำนวนเครื่องแท็บเลตพีซี ประเมินความครอบคลุมของเครื่องฯ ที่แจกจ่ายลงไปให้แก่เด็กๆ อย่างทั่วถึง ครอบคลุมเด็กนักเรียนตามที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ 
            ๒) คุณภาพของเครื่องแท็บเลตพีซี ซึ่งต้องพิจารณากันถึงคุณภาพทางด้านกายภาพของเครื่อง(ฮาร์ดแวร์) และซอฟท์แวร์(โปรแกรมที่ใส่ไว้ในเครื่องฯ) ผลลัพธ์จากเนื้อหาการเรียนการสอน และความคาดหวังว่าสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาในระดับ ป.๑ หรือไม่อย่างไร
 ๓) จำนวนเวลาของการใช้งาน ต้องมีการเก็บข้อมูลว่า เด็กมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานมากน้อยแค่ไหน ใช้เวลาเหล่านั้นไปทำอะไรกับมันบ้าง และ 
๔) ค่าใช้จ่ายทางตรง ที่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้ เช่น งบประมาณในการจัดซื้อ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ค่าเพิ่มหรือถอดโปรแกรม ค่าซ่อมบำรุงรักษา  และระบบศูนย์รวมของการบำรุงรักษาในแต่ละพื้นที่  และค่าใช้จ่ายทางอ้อม(ได้แก่ ต้นทุนในการเสียโอกาส)
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงการได้รับการยอมรับจากสังคมร่วมด้วย เช่น ความคาดหวังและความคิดเห็นที่ประชาชนที่มีต่อโครงการนี้ โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งที่เป็นผู้ใกล้ชิดตัวเด็กและมีส่วนเป็นเจ้าของเงินภาษีนั้นด้วย
หรืออีกวิธีหนึ่ง โดยวิธีวัด “ผลิตภาพ”(Productivity)ก็ได้ โดย “ผลิตภาพ เท่ากับ ผลลัพธ์(Output + Outcome) หารด้วยปัจจัยนำเข้า(Input)”  ถ้าหาก “ผลลัพธ์”น้อยกว่าปัจจัยนำเข้าก็ถือว่า ขาดทุน หรือ ไม่คุ้มค่า  หรือถ้าเกิดผลลัพธ์สูง เด็กนักเรียนได้ประโยชน์มาก จนเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนอย่างมากมายขึ้นในสังคมไทย เด็กๆ มีความฉลาดมากขึ้น ไม่เพียงแค่ผู้กุมนโยบายจะได้ลงมือใช้เงินจัดซื้อ และเด็กๆ ได้รู้จักและสัมผัสเครื่องมือสุดยอดไฮเทคที่สุดเท่านั้น  
ผลิตภาพจึงหมายถึง ความคุ้มกับไม่คุ้มเท่านั้น



(ภาพ เด็กในประเทศจีนกำลังใช้แท็บเลตพีซีในการเรียน)

ด้วยวิธีการประเมินอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ วิธีการนี้ของกระทรวงศึกษาธิการจึงจะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า การแจกแท็บเลตพีซีมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความคุ้มทุน หรือไม่เกิดความสูญเสียงบประมาณ สิ้นเปลืองทรัพยากรประเทศชาติที่ทุ่มลงไป
หากพรรคเพื่อไทยทำได้ดีในนโยบายนี้  ก็อาจหมายความได้ว่า เงินงบประมาณเพียง ๕,๐๐๐ ล้านบาทนั้นมันได้ส่งผลให้ระบบการศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการปฏิรูปการศึกษาทีใช้ความพยายามมาอย่างยาวนานก็เป็นได้  ควรจะได้มีการขยายผลไปในระดับชั้นต่างๆ

(ภาพหน้าตาแท็บเลตพีซีของบริษัท Bharat Electronics ผู้ผลิตจากอินเดีย ราคา ๒,๑๐๐ บาท)

 เมื่อพิจารณาอีกด้านหนึ่ง การแจกแท็บเลตพีซีน่าจะเป็นปัญหาที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อย  เพราะยังไม่มีใครในพรรคเพื่อไทยการันตีได้ว่า จะเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลแค่ไหน  ได้แต่พูดไปเรื่อยเพราะไม่เคยมีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม มีแต่นามธรรมและความคาดหวัง
 นโยบายนี้ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการแจกจ่ายแท็บเลตพีซีเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.๑  จึงมีคำถามว่า เมื่อให้นักเรียนชั้น ป.๑ ได้ใช้เรียนหนังสือแล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง?
แน่ นอนว่า เครื่องแท็บเลตพีซีนั้นหากนำเอาไปใช้กับคนรุ่นไหนก็ย่อมเกิดมีการเปลี่ยน แปลงแก่คนในรุ่นนั้น เพราะคนเหล่านั้นก็จะได้ใช้เครื่องมือการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงแหล่ง ข้อมูลที่มีทั้งสาระและบันเทิงอยู่ในตัวครบครันอย่างง่ายดายในรูปแบบที่ทัน สมัย
 ในโจทย์เดียวกันนี้ หากเราปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายกันเสียใหม่ ด้วยการนำเอาเครื่องแท็บเล็ตพีซีมาใช้กับเด็กนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง ลองเปลี่ยนระดับของสติปัญญาของเด็ก ก็ย่อมได้รับผลลัพธ์แตกต่างกันออกไปอย่างไม่ต้องสงสัย เช่น  หากนำเครื่องแท็บเลตพีซีเครื่องเดียวกันนี้ไปให้เด็กนักเรียนในช่วงชั้นที่ ๒ (ชั้น ป. ๔ )ได้ใช้เรียน ย่อมได้รับผลลัพธ์ที่ "ต่างออกไปในทางบวก" ซึ่งหมายความว่า น่าจะได้ผลดีกว่าเด็กชั้น ป.๑  เพราะอย่างน้อยๆ เด็กก็มีความพร้อมในการเรียนรู้มากกว่า ใช้งานได้เป็นผลมากกว่า
เช่น เดียวกัน หากรัฐบาลลงทุนในจำนวนเครื่องต่อหัวเท่าๆ กัน แล้วนำไปให้เด็กนักเรียนในช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑ )ก็ย่อมได้รับผลลัพธ์ดีกว่าการใช้งานกับเด็ก ป.๔ และ ป.๑ อย่างแน่นอน หรือถ้าหากเรานำเครื่องแท็บเล็ตพีซีไปให้เด็กนักเรียนช่วงชั้นที่ ๔ (ม.๔) ได้เกิดการเรียนรู้และค้นหาวิทยาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความงดงามที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ของวัฒนธรรมไทย ก็ย่อมเกิดภูมิปัญญาได้มากมายแก่เด็กนักเรียนเหล่านั้น "มากกว่า ๓ กลุ่มแรกนั้นเสียอีก"
ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงไม่ทำเช่นนั้น...?



ใน เรื่องนี้จึงไม่มีอะไรสะท้อนมากเกินไปกว่า ความต้องการเอาชนะในการเลือกตั้งมากกว่าการใช้เหตุผลในการคิดหาวิธีการเพิ่ม สติปัญญาให้แก่เด็กนักเรียน การใช้คำโฆษณาซึ่งมีลักษณะเกินตัว(เช่นเดียวกับการใช้คำว่า "๓๐ บาทรักษาทุกโรค") แล้วยังสะท้อนลึกไปถึงนิสัยของคนไทยที่ต้องการ “การได้หน้า”กันเสียมากกว่า และก็เชื่อเหลือเกินว่า เมื่อนโยบายแจกแท็บเลตพีซีออกมาใช้เป็นการจริงจังแล้ว ปัญหาจะเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย แล้วคนที่ทำนโยบายนี้มาใช้ก็ต้อง “รักษาหน้า”ตัวเอง 
เกรงก็แต่ว่าจะมีการแก้ผ้าเอาหน้ารอดกันอีก เหมือนหลายๆ โครงการที่แล้วๆ มา
เรากำลังพูดถึงเรื่อง  "คุณค่าทางเศรษฐกิจของการศึกษา"   ซึ่งหมายถึง การที่ประเทศมีเศรษฐกิจดี อันเนื่องจากประชาชนมีการศึกษาที่ดี  ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนในมนุษย์คิดเป็นรายหัวสูงแล้วก็ตาม  แต่ก็ได้ส่งผลให้ประชาชนเป็นพลเมืองดี มีทักษะที่ดีในการทำงาน ได้แรงงานที่มีคุณภาพ มีสินค้าบริการที่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสืบเนื่องต่อๆ กันไป ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวกสบาย มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดการผลิตเองในประเทศมากกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ จนกระทั่งประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง เราจึงจะเชื่อได้ว่า นโยบายนี้มี “คุณค่าทางเศรษฐกิจของการศึกษา”
  เพื่อให้เรื่องแท็บเลตพีซี จะไม่ใช่เพียงเพื่อเอาเงินภาษีของเรา ไปซื้อ “ของเล่น”แจกให้แก่เด็กๆ  เป็น “เครื่องทดลองให้แก่คนออกนโยบาย” และเป็นช่อทางใน   “การหาประโยชน์จากการจัดซื้อเครื่องแท็บเลตพีซีของนักการเมือง”


ข้อมูลจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=740203 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นักเรียนทุกคน ช่วยตอบแบบสอบถามนี้ด้วยค่ะ

ดูทีวีครูเรียนรู้วิทยายุทธ

Subscribe Now: Feed Icon